xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทย 11 ล.เผชิญโรคความดันฯสูง สธ.เผยตายชม.ละ 5 ราย
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 17 พฤษภาคม ทุกปี สมาพันธ์โรคความดันโลหิตสูงโลก กำหนดให้เป็นวันโรคความดันโลหิตสูงโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ขณะนี้คนทั่วโลกเป็นโรคความดันโลหิตสูง ประมาณ 1,000 ล้านคน คาดอีก 17 ปี จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มเป็น 1,600 ล้านคน
ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจสุขภาพครั้งล่าสุดในปี 2547 พบประชาชนที่มีอายุ 15 ขึ้นไปมีความดันโลหิตสูงเฉลี่ยร้อยละ 22 หรือประมาณ 11 ล้านคน โรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีผลทำให้หลอดเลือดแดง ตีบแคบลง มีผลร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญ คือ ไต หัวใจ สมอง โดยมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวาย ถึงร้อยละ 60-75 เสียชีวิตจากเส้น เลือดสมองแตกหรืออุดตันร้อยละ 20-30 และเสียชีวิตจากไตวายร้อยละ 5-10 ส่วนผู้ที่รอดชีวิตจะมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนที่ความดันโลหิตปกติถึง 5 เท่า โดยมีคนไทยเสียชีวิตจากผลพวงของโรคความดันโลหิตสูงปีละ 48,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ราย และมีคนไทยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ประมาณ 250,000 คน
ในการป้องกันโรคนี้ ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตทุกปี และสังเกตอาการผิดปกติในร่างกาย โดยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าอาจเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่พบบ่อยได้แก่ ปวด วิงเวียนศีรษะ มึนงง ตาพร่ามัว เหนื่อยง่ายผิดปกติ หรือแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ หากมีอาการเหล่านี้ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการ ตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาภายหลัง
กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่กินอาหารรสเค็ม คือกินเกลือแกงมากกว่าวันละ 6 กรัมต่อวัน กินผักผลไม้น้อย ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ใช้ชีวิต แบบนั่งๆ นอนๆ ไม่ออกกำลังกาย หรือ ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรัง คนอ้วน สำหรับ ผู้ที่เป็นโรคนี้แล้ว จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาควบคุมอาการ ซึ่งมีคนจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าโรคนี้รักษาหายขาด พอกินยาจนความดันโลหิตเป็นปกติแล้วก็เลิกกินยา ทำให้โรคกำเริบรุนแรงขึ้น เกิดปัญหาแทรกซ้อน อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

5 โรคฮิตคนสูงวัย
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากรายงานปัญหาสุขภาพจิตผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ในสถานบริการสังกัด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในรอบ 5 ปี พ.ศ. 2547-2551 มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการ 141,566 รายต่อปี ผู้ป่วยใน 2,663 รายต่อปี
สำหรับปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่เป็น ผู้ป่วยนอก 5 อันดับ คือ โรควิตกกังวล และ ความเครียด ร้อยละ 26.42 โรคจิต ร้อยละ 25.73 โรคที่มีสาเหตุจากสมองและร่างกาย ร้อยละ 18.47 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 18.24 และโรคจากสารเสพติด ร้อยละ 3.43
“ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น การเจ็บป่วย การเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกายที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด ความรู้สึกกดดัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านบทบาททางสังคม เช่น การเกษียณอายุ การสูญเสียบทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัว การเสียชีวิตของคู่สมรส ญาติ คนใกล้ชิด หรือเพื่อน ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อจิต ใจของผู้สูงอายุทั้งสิ้น”

เผยผลวิจัย ชาเขียวและเห็ด ช่วยลดความเสี่ยงเสี่ยงมะเร็งเต้านม
มิน จาง จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ได้ศึกษาการบริโภคของผู้หญิงจากเมืองหางโจว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2004 กันยายน 2005 โดยครึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้เป็นโรคมะเร็งเต้านม
ขณะที่มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดที่พบมากที่สุดกับผู้หญิงทั่วโลก จางกล่าวว่า อัตราการพบมะเร็งเต้านมในจีนต่ำกว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว 4-5 เท่า
“เราสรุปว่า การบริโภคเห็ดลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมในหมู่ผู้หญิงจีน ช่วงก่อนและหลังการหมดประจำเดือน และสังเกตพบด้วยว่า ความเสี่ยงลดลงด้วยจากผลของเห็ดและชาเขียว”
จางพบว่า การกินเห็ดเพียงแค่ 10 กรัม หรือเพียงหนึ่งดอก เป็นประจำทุกวันจะเป็นประโยชน์ ผู้หญิงที่กินเห็ดสดมากที่สุดราว 2 ใน 3 มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งน้อยเต้านม น้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้กินเห็ดเลย
นอกจากนี้ จางยังพบว่าชาเขียวและเห็ดยังช่วยลดความรุนแรงของมะเร็งด้วย

สูบบุหรี่วันละ 1 มวน เสี่ยงเสียชีวิต 1.5 เท่า
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยผลการวิจัยถึงสาเหตุ การเสียชีวิตในเพศชาย 8,309 คนและเพศหญิง 11,077 คน ที่ไม่สูบบุหรี่และชาย 627 หญิง 796 ที่สูบบุหรี่วันละ 1 ถึง 4 มวน โดยติดตามเป็น เวลา 30 ปี จากสถาบันสุขภาพกรุงออสโล นอร์เวย์ พบว่า แม้การสูบบุหรี่เพียงวันละหนึ่งถึงสี่มวน อัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในเพศชายเพิ่มขึ้น 1.56 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และในเพศหญิงเพิ่มขึ้น 1.44 เท่า โดยสาเหตุ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2.65 เท่าในเพศชาย และ 2.81 เท่าในเพศหญิง มะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 2.84 เท่าในเพศชาย และ 5.02 เท่าในเพศหญิง งานวิจัยเดียวกันยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน เช่น สูบวันละ 5-9 มวน ตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า 15-19 มวนเพิ่มขึ้น 2.78 เท่า และ 20-24 มวน เพิ่มขึ้น 3.35 เท่า
ผลการวิจัยสรุปว่า การสูบบุหรี่เพียงวันละหนึ่งถึงสี่มวนเพิ่มความเสี่ยง ในการที่จะเสียชีวิตขึ้น 1.5 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่ที่ไม่ยอมเลิกสูบเพราะคิดว่าสูบน้อยๆ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่สูบบุหรี่น้อยๆ จึงควรเลิกสูบบุหรี่ทันที ซึ่งการเลิกจะไม่ยาก เพราะการติดนิโคตินอยู่ในระดับต่ำ ไม่ลำบาก หรือทุรนทุราย สามารถเลิกด้วยตนเองได้ หรือโทร.1600 เพื่อขอคำปรึกษา

ใช้หลอดตะเกียบ ระวังรังสียูวี
นายแพทย์โรเบิร์ต ซาร์คานี ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้แสง แห่งสถาบันโรคผิวหนังเซนต์จอห์น โรงพยาบาลเซนต์โธมัส ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า
หลอดตะเกียบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีสัดส่วนของรังสี อัลตราไวโอเลต( ultraviolet -UV ) สูงกว่าหลอดไส้แบบเก่า
ซึ่งข้อดีของหลอดตะเกียบคือ ประหยัดพลังงาน และช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรเปิดหลอดตะเกียบไว้ใกล้ตัว หรือตกกระทบผิวหนังโดยตรงมากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังชนิดแพ้แสงได้
และถ้าใช้เป็นหลอดไฟอ่านหนังสือ ควรมีโคมไฟป้องกันไม่ให้แสงส่องเข้าตา หรือผิวหนังโดยตรง ก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้น

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 102 พ.ค. 52 โดยธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น