xs
xsm
sm
md
lg

ทำบุญ..ได้บาป อาหารใส่บาตร ทำพระสงฆ์เสี่ยงโรค...จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คนไทยต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ จากความคิดเดิมที่เลือกอาหารใส่บาตรเพราะความชอบของญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นความเชื่อโบราณ แต่อาหารบางอย่างมันส่งผลถึงสุขภาพพระสงฆ์ เพราะบางอย่างมีทั้งไขมัน และน้ำตาลมากเกินไป เช่น ผู้ตายบางคนชอบกินขาหมูติดมัน ญาติผู้ตายก็ทำบุญใส่บาตรด้วยขาหมูติดมัน ทำให้พระเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เพราะพระไม่สามารถเลือกฉันอาหารได้ แต่ถึงเลือกได้ก็น้อยมาก ที่จะพบอาหารเพื่อสุขภาพ” ดร.นพ.กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ หัวหน้าโครงการตรวจรักษาสุขภาพพระภิกษุสงฆ์หรือ “รักษ์ใจ ไหว้พระ” กล่าว

ดร.นพ.กิติพันธ์ เล่าให้ฟังว่า ทางโรงพยาบาลได้ทราบข้อมูลเรื่องพระสงฆ์หลายรูปที่จำวัดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ประสบปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ มีสถิติเพิ่มสูงขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญของสถาบันพระพุทธศาสนา จัดโครงการ “รักษ์ใจ ไหว้พระ” เพื่อส่งเสริมและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแก่พระสงฆ์ โดยจัดหน่วยแพทย์อาสาออกบริการตรวจสุขภาพระสงฆ์ตามวัดในกรุงเทพฯ จากการคัดเลือกของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจำนวน 82 วัด ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2551 เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจวัดระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด รวมทั้งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคหัวใจ พร้อมให้คำแนะเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และการป้องกัน

“ผลสรุปการตรวจสุขภาพของพระ 78 วัด จำนวน 1,825 รูป มีพระ 345 รูป หรือ 1 ใน 5 มีความดันโลหิตสูง คิดเป็น 18.90% ส่วน 665 รูป หรือ 1 ใน 3 มีน้ำตาลในเลือดสูง คิดเป็น 36.44% และเกือบครึ่ง หรือ 1 ใน 2 จากจำนวนพระ 915 รูป คิดเป็น 50.14% มีไขมันสูงมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้สูงในอนาคต ซึ่งต้องหาทางป้องกัน และแก้ไขอย่างเร่งด่วน” ดร.นพ.กิติพันธ์ให้ข้อมูล

นอกจากนี้ จากผลการตรวจสุขภาพของพระ สามารถประเมินเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้ คือ พระ 702 รูป คิดเป็น 38.47% มีความเสี่ยงน้อยกว่า 5% ที่จะเป็นโรคหัวใจ 375 รูป คิดเป็น 20.55% มีความเสี่ยง 5-10% พระ 353 รูป คิดเป็น 13.86% มีความเสี่ยง 10-20% และพระ 223 รูป คิดเป็น 12.22% มีความเสี่ยง 20-40% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจ คือ พระ 132 รูป คิดเป็น 7.23% มีความเสี่ยงมากกว่า 40% ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ในอนาคต

สำหรับผลการตรวจสุขภาพดังกล่าวจะถูกนำมาวินิจฉัยอีกครั้ง จากนั้นจะจัดส่งให้วัด และพระจาก 82 วัดในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้ทราบผลการตรวจของตัวเอง เพื่อทำการรักษาต่อไป รวมทั้งพระที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจะได้ป้องกันได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีพระจำนวน 297 รูปที่ทางโรงพยาบาล เห็นว่าควรจะทานยา และให้ยาลดไขมัน น้ำตาล โดยทางโรงพยาบาลจะดูแลค่ารักษาให้ทั้งหมด แต่ต้องเป็นพระที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงเท่านั้น

สอดรับกับ นพ.เพิ่มยศ เรืองสกุลราช ศัลยแพทย์หัวใจ และทรวงอก ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ บอกว่า พระเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะการฉันอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การสูบบุหรี่ รวมถึงขาดการออกกำลังกาย สำหรับการตรวจสุขภาพของพระจะเน้นเรื่องของความดัน น้ำตาล และไขมันในเลือดว่ามีค่าอยู่ที่ระดับปกติหรือไม่ ซึ่งพบว่า บางรูปมีไขมันมากเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้

“ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มาจากการสูบบุหรี่เป็นสำคัญ รองลงมาเป็นเรื่องอายุที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้ามีอาการเจ็บทรวงอกบ่อยครั้งให้ไปพบแพทย์ทันที เรื่องกรรมพันธุ์ ถ้ามีญาติเป็นโรคนี้ ก็จะมีความเสี่ยงมาก ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ และที่สำคัญเรื่องของการฉันอาหารที่มีปริมาณไขมัน และน้ำตาลมากเกินไป เช่น แกงกะทิ ทองหยิบ ฝอยทอง เป็นต้น” นพ.เพิ่มยศให้ข้อมูล

กระนั้นก็ตาม การจะลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้นั้น พระสงฆ์ต้องฉันอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ รวมทั้งอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ ที่สำคัญต้องลดการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเดิน เท่ากับว่า เป็นการออกกำลังกายให้ร่างกาย และหัวใจ อย่างไรก็ดี อยากฝากถึงประชาชนชาวพุทธด้วยว่า ต้องเลือกอาหารสุขภาพใส่บาตร ไม่เลือกตามความชอบของผู้ตาย หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ด้าน พระเทพภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กทม. บอกว่า พระที่วัดส่วนใหญ่จะเป็นโรคเบาหวาน และความดันเลือดกันมาก เพราะบางรูปมีอายุมากแล้ว และคิดว่าอาหารใส่บาตร หรืออาหารถวายพระ ไม่ส่งผลกับสุขภาพพระโดยตรง เพราะพระจะมีวินัยในการฉัน คือ สามารถเลือกฉันอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ รวมทั้งฉันอาหารอย่างพอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป แต่ส่วนใหญ่ที่จะเกิดความเสี่ยงต่อโรคมักขาดการออกกำลังกาย หรือเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่มากกว่า

“อาตมาไม่เห็นด้วยกับการทำสังฆทาน เมื่อก่อนยังรับได้อยู่ แต่สมัยนี้ทุกอย่างมันเป็นของปลอม ปลอมทุกอย่าง ปลอมไปหมด ตั้งแต่ยา อาหาร เครื่องใช้ หรือแม้กระทั่งผ้าอาบน้ำฝน ทั้งที่ความจริงแล้ว ต้องห่มรอบตัวพระได้หมด มันก็เหลือแค่เพียงผ้าขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งอาหารบางอย่างไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ หรือวันหมดอายุ พระได้มาไม่รู้จะเอามาใช้ทำอะไร ให้ใครก็ไม่ได้ เพราะเป็นของไม่มีคุณภาพ จึงอยากวอนขอญาติโยมว่า การที่เรามีจิตใจที่บริสุทธิ์ อยากทำบุญ เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งของ หรืออาหารที่นำมาถวายพระด้วย ถึงจะได้บุญเต็มรูปแบบ” ท่านเจ้าคุณธงชัยกล่าว

ขณะที่ พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กทม.บอกว่า ของที่ได้รับจากญาติโยมส่วนใหญ่ จะแบ่งเป็นของหวาน และของคาว ซึ่งมีปริมาณน้ำตาล และไขมันสูง เช่น แกงกะทิ หรือขนมหวานใส่กะทิ และน้ำเชื่อม แต่ปัจจุบันเห็นได้น้อยลง เพราะบางคนรับรู้ถึงปัญหา โดยปกติ พระสามารถเลือกฉันอาหารเองได้ โดยจะนำอาหารจากการรับบาตรมารวมกัน แล้วจัดใส่เป็นสำรับเพื่อฉัน ซึ่งพระจะรู้กันดีว่าอาหารที่ฉัน สิ่งไหนมีประโยชน์ และสิ่งไหนไม่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือพระไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้รับการเผาผลาญที่สมบูรณ์

“กายบริหารถือเป็นวินัยรองของพระที่สามารถปฏิบัติได้ แต่ต้องอยู่ในความเหมาะสม ไม่โลดโผน เช่น การเข้าเรือนไฟในสมัยก่อน เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง อาจไม่ค่อยพบในวัด กทม.เป็นการเผาผลาญไขมันได้ดี หรือการซักจีวร การทำวัตร ก็เป็นการออกกำลังอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะให้เต้นแอโรบิคในวัดก็คงไม่ถูก เพราะไม่สำรวม และลดศรัทธาชาวบ้านให้หมดไป” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

สำหรับพุทธศาสนิกชนอย่าง วงเดือน ขุนทอง เล่าว่า ตัวเองจะตื่นใส่บาตรกับครอบครัวเป็นประจำทุกเช้า โดยอาหารที่เลือกใส่บาตรจะมีข้าวเจ้า หรือข้าวกล้อง 1 โถ ผัดผัก ผลไม้ รวมทั้งอาหารประเภท นมถั่วเหลือง เพราะเห็นว่าเป็นอาหารสุขภาพสำหรับพระ บางครั้งเดินทางไปวัดมักเห็นแต่อาหารมัน และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากกว่าอาหารจำพวกผัก ซึ่งยอมรับว่ามีประโยชน์สำหรับพระหนุ่มที่ต้องการพลังงาน แต่ต้องคำนึงถึงพระที่มีอายุมากด้วย เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับไขมัน หรือโรคหัวใจได้ง่าย

จากคำพูดของพระเทพภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม ที่ว่า “การที่เรามีจิตใจที่บริสุทธิ์ อยากทำบุญ เป็นสิ่งที่ดีงาม และดียิ่ง แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งของ และอาหารที่นำมาถวายพระด้วยว่ามีประโยชน์หรือไม่ ถึงจะได้บุญเต็มรูปแบบ” จึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การทำบุญ ย่อมได้บุญก็จริง แต่การทำบุญ...หากขาดสติหรือปัญญา ผลที่ตามมาอาจได้ “บาป” แทน เพียงเพราะอาหารใส่บาตร เป็นต้นเหตุที่ทำพระเสี่ยงต่อโรค

อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ ต้องรู้จักดูแลตัวเอง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย เมื่อทั้งสองฝ่ายปรบมือพร้อมกัน เชื่อได้เลยว่า ผลบุญจากความศรัทธาที่บริสุทธิ์ จะงอกงามอย่างแรง!
กำลังโหลดความคิดเห็น