xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยหวัด 2009 เพิ่มอีก 84 ราย - มี 1 รายที่ รพ.ราชวิถี อาการยังน่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยอดป่วยหวัดใหญ่เพิ่มอีก 84 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 1,414 ราย รักษาหายแล้ว 1,387 ราย ผอ.ราชวิถีเผย ผู้ป่วยวัย 47 ปี แพทย์รอดูอาการใกล้ชิด กลัวโรคแทรกซ้อน ล่าสุดพบอีกรายเป็นหญิงวัย 21 ปี ติดเชื้ออาการรุนแรง

นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ (30 มิ.ย.) มีรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไขัหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มเติมอีก 84 ราย เป็นนักเรียน 61 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 1,414 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 1,387 ราย มีผู้ป่วยนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 24 ราย โดยยังมีผู้ป่วยอาการน่าเป็นห่วง 1 ราย อายุ 47 ปี รักษาตัวอยู่ รพ.ราชวิถี สำหรับอาการล่าสุดยังน่าเป็นห่วง ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

นายมานิตกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค เป็นที่น่าสังเกตว่าจะพบผู้ป่วยในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น สถานศึกษา ค่ายทหาร สถานบันเทิง ได้เน้นให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. เร่งให้ความรู้ กระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด โดยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ใช้ช้อนกลาง แยกของใช้ส่วนตัวไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น และการทำความสะอาดสถานที่เป็นประจำ โดยเฉพาะตามจุดเสี่ยงแพร่เชื้อ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 ถึง 30 มิถุนายน 2552 ตามเวลาประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ใน 116 ประเทศ รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 70,893 ราย เสียชีวิต 311 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.44 ประเทศและอาณานิคมที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายแรก ได้แก่ อิรัก ลิทัวเนีย โมนาโค และเนปาล

เผยชายวัย 47 ปี อาการดีขึ้น แต่ระวังโรคแทรกซ้อน
พญ.วารุณี จินารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยถึงอาการของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่พักรักษาตัวอยู่ในรพ.ราชวิถี ว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชาย อายุ 47 ปี มีอาการไข้ต่ำๆ ไอ ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. มาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ด้วยอาการไข้สูง 39 องศาเซลเซียส โดยผู้ป่วยไอมาก หลังจากให้การรักษาโดยให้ยาโอเซลทามิเวียร์ทันทีที่มาถึงโรงพยาบาลประมาณ 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีอาการหอบมาก หายใจติดขัด ผลเอกซเรย์ปอดพบว่ามี ภาวะปอดบวม แพทย์ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและนำเข้ารักษาในห้องไอซียู และทำการเอกซเรย์ปอดอีกครั้งพบว่าปอดบวมมากขึ้น และค่าออกซิเจนในเลือดต่ำมาก จำเป็นต้องใช้เครื่องเร่งความดันในปอด และทำให้ออกซิเจนในเลือดปกติ

“ขณะนี้คนไข้อาการดีขึ้น แต่ยังไม่น่าไว้วางใจแพทย์ต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะไม่แน่นอนว่าอาจมีอาการแทรกซ้อนได้อีกหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มีประวัติการสูบบุหรี่และดื่มสุรามานานกว่า 20 ปีโดยไม่เคยตรวจสุขภาพเลย และว่าจากการซักประวัติ ทราบว่าก่อนที่จะมีอาการป่วยลูกชายของผู้ป่วยรายนี้ ป่วยเป็นไข้หวัดมาก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ซื้อยากินเอง จนอาการหายเป็นปกติ ไม่ได้มาพบแพทย์”พญ.วารุณีกล่าว

สธ.พบหญิงวัย 21 ปี ติดเชื้ออาการรุนแรงอีกราย
นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสธ.กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยหญิงวัย 21 ปี ติดเชื้อจากภายในประเทศ อาการรุนแรงอีก 1 ราย โดยมีอาการปอดบวม มีไข้ แต่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่าเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้หากเกิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงทีมแพทย์ได้เตรียมการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดทุกราย ส่วนในรายที่เสียชีวิตทั้ง 3 ราย เนื่องจากญาติไม่อนุญาตให้มีการ นำเนื้อเยื้อตรวจพิสูจน์ศึกษาหาสาเหตุความรุนแรงของโรคซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก

"วิทยา"ชี้ไม่เคยประเมิณโรคต่ำ ย้ำภูมิใจการรับมือ
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้ง 3 รายว่า สธ.ไม่ได้ประมาทและไม่เคยประเมินโรคนี้ต่ำ โดยมีการแจ้งเตือนเป็นระยะๆ ตั้งแต่การป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งการที่สธ.สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคได้ประมาณ 1 เดือนเศษ ถือเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจกับการทำงาน ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเริ่มมีผู้ที่หนีการคัดกรองของสธ.และมีผู้ติดเชื้อในประเทศรายแรก ก็บอกกับประชาชนว่ามีการเริ่มแพร่ในประเทศ มีการให้ความรู้ทั้งทางโทรทัศน์ เอกสารเผยแพร่ อบรมอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้ป้องกันตัวเอง ส่วนความพร้อมในการรักษาก็พร้อมตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนก็หารือกับญี่ปุ่น เกาหลี ในเรื่องความร่วมมือด้านยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ แต่ถึงวันนี้ต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าไม่สามารถใช้มาตรการสกัดกั้นโรคเหมือนกับโรคไข้หวัดนกได้ เพราะคนยังมีการไปมาหาสู่กันตลอดเววลา

“รู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้ง 3 ราย จากการประชุมหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสธ.ทุกคนไม่มีความสุขเพราะทำงานเฝ้าระวังโรคตลอด 2 เดือน ยื้ออย่างที่สุดแล้วกลับมีผู้เสียชีวิต และคงไม่มีใครสนุกที่ต้องลุ้นว่าจะมีคนตายอีกหรือไม่ ดังนั้น หากใครวิจารณ์อะไรขอให้คิดถึงหัวอกคนที่ทำงาน ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้างแล้วได้แต่ตำหนิ หากมีอะไรที่บกพร่องควรมีมาตรการที่ดีกว่านี้ขอให้เสนอมา ทั้งนี้ สธ.ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านการรักษาไม่แบ่งแยกทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอยู่แล้ว”นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยาประเมินตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พบว่าน่าจะมีตัวเลขของผู้ป่วยนอกระบบการตรวจรักษามากกว่านี้หลายเท่า เนื่องจากส่วนหนึ่งอาการไม่รุนแรงเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ก็หายได้เอง ทำให้บางรายไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่2009 อย่างไรก็ตามหากเป็นหวัดมีอาการไอ หรือจามควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันและล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

กทม.เปิดสายด่วน 1555 สร้างความเข้าใจหวัด 2009
แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในพื้นที่กทม.ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และวิตกกังวลอย่างมาก กทม.มีความห่วงใยประชาชน จึงจัดเจ้าหน้าที่ประจำสายด่วน กทม. 1555 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันนี้ (30 มิ.ย.) เป็นต้นไป เพื่อคอยตอบคำถาม ให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจต่อสถานการณ์ของโรค รวมถึงการดูแลผู้ป่วยและการปฏิบัติตนที่ถูกต้องในการป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งที่ผ่านมากทม.ได้เฝ้าระวัง และป้องกันกันการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนอย่าได้ตกใจเพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดด้วยตนเองได้เพียงใช้หลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางตักแบ่งอาหารมาใส่จานของผู้กิน ล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำและสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรก เป็นต้น

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทั้ง 50 สำนักงานเขตจัดการประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ก.ค. 2552 โดยจัดแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลในสังกัดกทม.ทั้ง 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง เป็นวิทยากร ซึ่งในช่วงเช้าเป็นการประชุมผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียน ช่วงบ่ายจัดประชุมแก่ผู้ประกอบการร้านค้า สถานบันเทิง และผู้ประกอบกิจการสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งชุมนุมคน และเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากนั้นให้รายงานผลการดำเนินงานไปยังสำนักอนามัยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น