xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์อมควันผวาอีก! สธ.ใส่ภาพสยองข้างซองบุหรี่เพิ่ม - ชี้ขึ้นภาษี 0.01% จิ๊บจ๊อยทำคนเลิกยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เพิ่มภาพเตือนภัยบุหรี่ชุดใหม่ ข้างซอง 10 ภาพ พร้อมพิมพ์สายด่วน 1600 แนะวิธีเลิกบุหรี่ที่ข้างซองบุหรี่ทุกซอง คาดมีผลบังคับใช้ทันในปลายปีนี้ พร้อมทั้งเตรียมขึ้นภาษียาเส้น ชี้เก็บแค่ 0.01% น้อยเกินไป ส่งผลชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่าอันตรายน้อย ทำให้ไม่เลิกสูบ รวมทั้งให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งเปิดคลินิกอดบุหรี่ เตรียมให้สิทธิการรักษาการเลิกบุหรี่ ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาของ สปสช.

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ แถลงข่าวการจัดงานเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 นี้ โดยในปีนี้กำหนดคำขวัญรณรงค์ คือ“บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย” (Tobacco Health Warning)โดยรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษ พิษภัยอันตราย ผลกระทบที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป

นายวิทยากล่าวว่า ในการควบคุมปัญหาการบริโภคยาสูบของประเทศไทย สธ.ได้ใช้ทุกมาตรการ ทั้งการให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ รณรงค์เลิกสูบบุหรี่ การออกกฎหมายบังคับแล้ว 18 ฉบับ พบว่าได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆในปี 2552นี้ จะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นอีกใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.การจัดตั้ง ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ทางหมายเลข 1600 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทดลองใช้ 18 คู่สาย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2,000 รายต่อเดือน

2.ในส่วนของผู้ที่สูบบุหรี่แล้วซึ่งมีประมาณ 10 ล้านกว่าคน แล้วต้องการเลิกสูบอย่างเด็ดขาด กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เปิดคลินิกอดบุหรี่ให้บริการ และมีนโยบายบรรจุการรักษาการเลิกบุหรี่ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์ คาดว่าจะประกาศได้ภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และลดจำนวนผู้สูบให้น้อยลงไปเรื่อยๆ

3.คือการออกกฎหมายบังคับ โดยจะลงนามออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 เพิ่มการพิมพ์รูปภาพพร้อมคำเตือนภัยบุหรี่ชุดใหม่จากเดิมที่ใช้ในปี 2549 มี 9 ภาพ เป็น 10 ภาพ เพิ่มภาพเท้าเน่า เป็นภาพสี่สี ขนาดใหญ่ขึ้นเห็นชัดกว่าเดิม หรือมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ55 ของซองด้านที่มีพื้นที่มากที่สุด ให้พิมพ์ในอัตรา 1 แบบต่อบุหรี่ 5,000 ซอง หรือบนภาชนะบรรจุซิกาแรตทั้งสองด้านในอัตรา 1 แบบต่อ 500 กล่อง และให้พิมพ์ “โทร.เลิกบุหรี่ 1600” ด้วย จะมีผลใช้ในอีก 180 วันหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คาดจะใช้ทันในปลายปีนี้ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีประเทศที่พิมพ์ภาพเตือนภัยบนซองบุหรี่กว่า 12 ประเทศ ไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ดำเนินการ

นายวิทยากล่าวต่อว่า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่มีจำนวนกว่า 52 ล้านคน ที่ผ่านมาโดยเฉพาะพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ จากการติดตามประเมินผล ยังมีปัญหาในเรื่องไม่ติดป้ายสัญลักษณ์การห้ามสูบบุหรี่ และยังมีการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ในระหว่างยกร่างกฎหมาย เพื่อทำพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์แท้จริง ให้ได้ภายในปี 2553 โดยจะให้ครอบคลุมสถานที่ทำงาน โรงพยาบาล วัดทุกแห่ง โดยองค์การอนามัยโลกได้มอบทุนสนับสนุนดำเนินการประมาณ 20 ล้านบาท

“ทั้งนี้ ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ประจำโดยเฉพาะเพศชายให้ได้ร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนเพศหญิงจะควบคุมไม่ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะนี้แนวโน้มอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำของคนไทยลดลง แต่เป็นการลดลงในกลุ่มที่สูบบุหรี่ชนิดซอง แต่ในกลุ่มผู้สูบยาเส้นมีแนวโน้มมากขึ้น ผลสำรวจล่าสุดพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ชนิดซอง 5.1 ล้านคน ส่วนยาเส้นมีคนสูบ 5.7 ล้านคน ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากประชาชนเข้าใจผิดคิดว่า ยาเส้นมีอันตรายน้อย ทำให้ไม่เลิกสูบ รวมทั้งราคาถูกซองละประมาณ 5 บาท สูบได้นาน 2-3 วัน หาซื้อง่ายมีขายในร้านชำตามหมู่บ้าน กระทรวงสาธารณสุข เตรียมนำเรื่องการเก็บภาษีบุหรี่ยาเส้น เข้าหารือคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เพราะปัจจุบันเก็บภาษีต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 0.01 ขณะที่บุหรี่ชนิดซองเก็บร้อยละ 85”นายวิทยากล่าว

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานว่า ขณะนี้มีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากบุหรี่ซึ่งมีกว่า 25 โรค ปีละประมาณ 3.5 ล้านราย หรือตาย 1 รายในทุกๆ 9 นาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนไทย บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการตายอันดับ 2 รองจากโรคเอดส์ ปีละกว่า 40,000 คน โดยเฉพาะมะเร็งปอดมีผู้ป่วยใหม่ปีละเกือบ 20,000 คน ที่น่าห่วงพบว่าผู้หญิงในภาคอีสานมีแนวโน้มเริ่มต้นสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลง ขณะที่ภาคอื่นๆเริ่มต้นสูบเมื่ออายุมากขึ้น โดยผู้ชายอายุเริ่มสูบเฉลี่ยประมาณ 18 ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ยประมาณ 22 ปี

“ที่น่าวิตกไปกว่านั้น คือ พบการสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์สูงขึ้น ในครอบครัวที่ยากจนและการศึกษาต่ำ ทำให้ทารกมีโอกาสได้รับควันบุหรี่ค่อนข้างสูง โดยมีมารดากว่าร้อยละ 50 ยังสูบบุหรี่ขณะให้นมบุตร ส่วนอัตราการเลิกบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.95 ในปี 2534 เป็นร้อยละ 18.29 ในปี 2550 แต่ก็มีผู้สูบบุหรี่อีกประมาณ 6 ล้านคน ไม่เคยคิดเลิกบุหรี่และไม่พยายามเลิกบุหรี่ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี กลุ่มที่ไม่เรียนหนังสือ และกลุ่มที่ครอบครัวยากจน” นพ.ปราชญ์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น