สธ.เผย ครม.เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงคุมเหล้า ดักคอบริษัทน้ำเมาจะขอเข้าร่วมให้ข้อมูลชั้นกฤษฎีกา ถือว่าไม่เหมาะสม ชี้ กฎหมายลูกไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นเพิ่ม เครือข่ายต้านเหล้า เชื่อกฤษฎีกาจะไม่ลดทอนคงเนื้อหาสาระ ถ้าแก้ให้แย่กว่าเดิมขู่เคลื่อนไหวแน่
วันที่ 26 พฤษภาคม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเบื้องต้นรับหลักการในเรื่องร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ....ซึ่งออกตามความมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอไป ซึ่งขั้นตอนต่อไปได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ดูในรายละเอียดข้อกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในชั้นของ สคก.
“ผมเชื่อว่า ในชั้นการพิจารณาของ สคก.ฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ก็จะพยายามล็อบบี้เพื่อลดทอนความเข้มของร่างกฎกระทรวงนี้อีกอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากกว่า คือ การขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาชั้น สคก.เพราะโดยปกติธรรมเนียบปฏิบัติ ไม่ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมพิจารณาในชั้นพิจารณารายละเอียด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธาน สคก.ชุดที่พิจารณาเรื่องนี้”นพ.สมาน กล่าว
นพ.สมาน กล่าวต่อว่า การดำเนินการออกกฎหมายลูกไม่จำเป็นต้องเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็นอีกแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ สธ.ได้ดำเนินการทำประชาพิจารณ์ในเนื้อหากฎหมายแม่ไปแล้ว อีกทั้งยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งหน่วยงานรัฐหลายแห่งก็ดำเนินการเช่นนี้เหมือนกัน
“ผมเชื่อว่า เว็บไซต์ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการการคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นส่วนใหญ่เห็นด้วย มีเพียงสิบกว่ารายเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย และไม่เชื่อว่าฝ่ายบริษัทน้ำเมาจะไม่ทราบในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเลย เพราะแต่ละวันมีผู้เข้ามาติดตามเว็บไซต์ของเรานับหมื่นราย และยังเชื่อว่าเว็บไซต์ที่รับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาทางบริษัทน้ำมาคงติดตามอย่างใกล้ชิด” นพ.สมาน กล่าว
นพ.สมาน กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.นั้น มีบางส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ซักถามในเชิงปฏิบัติเช่น หากในสื่อทีวี การฉายภาพ ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ การแสดงภาพสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือของผู้ผลิตโดยผ่านเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีขนาดไม่เกินกว่า 5% ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด ต้องไม่เกินกว่า 2 วินาที ในช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00-05.00 น.แล้วภาพมีการขยายให้เห็นภาพสัญลักษณ์เหล่านั้นใหญ่ขึ้นจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งได้ชี้แจงว่า ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าจะขยายภาพก็ต้องเป็นภาพที่เฉลี่ยกัน และจะต้องไม่เกิน 5% ของขนาดจอภาพ อีกทั้งจะต้องมีคำเตือนประกอบภาพที่ฉายอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป็นเรื่องในเชิงปฏิบัติที่ไม่น่ามีปัญหาเท่าใด
ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า โดยเนื้อหาสาระของกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่น่าจะถูกลดทอนแก้ไขจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจเพียงแก้ไขการใช้ถ้อยคำและพิจารณาว่ากฎกระทรวงดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่อยู่แล้วหรือไม่ ดังนั้น จึงมั่นใจว่า เนื้อหาของกฎกระทรวงจะเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพราะจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนขึ้น และลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ เจ้าหน้าทีที่บังคับใช้กฎหมาย และภาคประชาชน ซึ่งมักตีความในหลายความหมายแตกต่างกัน
“หากจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ในชั้นกฤษฎีกาอย่างน้อยจะต้องไม่แก้ไขให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยว่าเดิม ไม่เช่นนั้นภาคประชาชนคงไม่สามารถอยู่เฉยได้ และต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูความชัดเจนในการตัดสินใจของคณะกรรมการกฤฎีกาก่อน นอกจากนี้จะพยายามผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ในการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ฟุตปาท รวมถึงการห้ามดื่มในโรงเรียน สถานที่ราชการโดยไม่มีข้อยกเว้น”นายคำรณ กล่าว
นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า หากที่ประชุม ครม.จะให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา ต้องให้โอกาสทุกฝ่ายเข้าร่วมให้ข้อมูลพร้อมกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และไม่ควรรับฟังความเห็นเฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น ซึ่งจะผิดหลักการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้คำแนะนำว่า ไม่ควรให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปกำหนดนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายส่งเสริมการผลิต และการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เป็นกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟังความคิดเห็นใดๆ อีก หลังจากที่มีการฟังความเห็นมาหลายครั้งแล้ว
“กฎกระทรวงฉบับนี้จำเป็นต้องแก้ไขส่วนใดอีก เพราะเท่าที่ดูรายละเอียดแล้วก็ถือว่าควบคุมน้อยอยู่แล้วจนไม่คาดหวังว่าจะสามารถคุมโฆษณาได้ เป็นห่วงว่าจะโฆษณากันมากขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างจากการห้ามโฆษณาบุหรี่อย่างเด็ดขาดในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมาช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเหล้าให้โทษหลายมิติมากกว่าบุหรี่แต่ก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้มีการโฆษณาได้ ”นายสงกรานต์ กล่าว
แหล่งข่าวจากการประชุม ครม.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำถามให้ทางสคก.ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรณีที่แผ่นป้ายสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตในสนามกีฬาและรายการเกมโชว์จะถือว่าจะดำเนินการควบคุมอย่างไร ทั้งนี้นายกฯได้แสดงความเห็นว่าเห็นชอบในหลักการเบื้องต้น และแม้ว่าจะมีกฎหมายในการควบคุมการโฆษณาในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่การออกกฎกระทรวงนี้ เพื่อให้เกิดการวางบรรทัดฐานต่อไป