xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สร้าง 6 วิทยาลัยผลิตพยาบาล-หมออนามัย พร้อมเพิ่มหลักสูตรเลิกบุหรี่สอน นศ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สร้าง 6 วิทยาลัยผลิตพยาบาลวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัย เป็นต้นแบบวิทยาลัยปลอดบุหรี่ บรรจุการแนะนำการเลิกสูบบุหรี่เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ พบได้ผลดี ส่งผลให้อาจารย์-นักศึกษาที่สูบบุหรี่ เลิกสูบได้ร้อยละ 16 ที่เหลือสูบลดลง พร้อมขยายผลต่ออีก 31 แห่งในปี 2552

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2550-2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาด้านสุขภาพ ในการแก้ไขปัญหาบุหรี่และสุขภาพ เนื่องจากเป็นสถาบันที่พัฒนาและผลิตบุคลากรด้านการพยาบาลและสาธารณสุขเป็นการเฉพาะ โดยขณะนี้บุหรี่เป็นสาเหตุให้คนไทยตายจากโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ รวมปีละประมาณ 42,000 คน เฉลี่ยวันละ 115 คน ดังนั้น บุคลากรและนักศึกษาของสถาบันฯ ควรมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเป็นตัวอย่างที่ดีและมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ด้วย เพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่

นพ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า ในปีแรกนี้ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินการนำร่อง 6 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี 5 จังหวัด คือ ชลบุรี ชัยนาท ลำปาง มหาสารคาม ตรัง และวิทยาการสาธารณสุขสิรินธร 1 แห่ง ที่จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2550-พฤษภาคม 2551 ทุกแห่งจะติดป้ายและจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ และได้บรรจุเรื่องการแนะนำการเลิกสูบบุหรี่เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากการประเมินผลพบว่าได้ผลดี ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 93 อยากเลิกสูบบุหรี่ ส่วนบุคลากรของสถาบันร้อยละ 98 รู้สึกสบายใจ เมื่อทราบว่าวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ ในปี 2552 จึงมีนโยบายขายผลเพิ่มอีก 31 แห่ง

ทางด้านนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ 6 แห่ง มีอาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษารวม 2,722 คน ในจำนวนนี้สูบบุหรี่ 56 คน เป็นอาจารย์ 24 คน นักศึกษา 32 คน โดยวิทยาลัยทุกแห่งได้จัดอบรมอาจารย์ในการส่งเสริมให้กับบุคลากรเลิกสูบบุหรี่ และจัดบริการให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ พบว่าได้ผลดี มีผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ 9 คน เป็นอาจารย์ 7 คน นักศึกษา 2 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ของผู้ที่สูบทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 47 คน มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ลดลงมาก จากที่เคยสูบวันละ 40 มวน เหลือวันละ 10 มวน คาดว่าในระยะยาวจะเลิกสูบบุหรี่สำเร็จ

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานผลสำรวจล่าสุด ใน พ.ศ.2550 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 51.2 ล้านคน สูบหรี่ 10.8 ล้านคน หรือร้อยละ 21 โดยสูบเป็นประจำทุกวัน 9.4 ล้านคน สูบนานๆ ครั้ง 1.3 ล้านคน ผู้ชายสูบมากกว่าหญิง 22 เท่าตัว จากการเปรียบเทียบในรอบ 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา พบยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยคนไทยเริ่มสูบบุหรี่ที่อายุเฉลี่ย 18 ปี โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เริ่มสูบอายุประมาณ 17 ปี ในกลุ่มของผู้ที่ต้องสูบเป็นประจำ เริ่มสูบที่อายุเฉลี่ย 18.5 ปี สูบประมาณวันละ 10 มวน เหตุผลสำคัญที่เริ่มสูบ ผู้ชายกว่าครึ่งบอกว่าอยากลอง รองลงมาคือ สูบตามเพื่อนและเพื่อเข้าสังคม แต่กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่ สาเหตุต้นๆ ที่เริ่มสูบเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่มีข้อสังเกตว่าผู้หญิงร้อยละ 13 สูบเพราะอาชีพ และอีกร้อยละ 11 สูบเพราะความเครียด
กำลังโหลดความคิดเห็น