3 องค์กรสุขภาพผนึกทุ่ม 32 ล้าน เปิด “ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ” กด 1600 สกัดบุหรี่เพชฌฆาตคร่าชีวิตคนไทย 115 ศพต่อวัน สูญค่ารักษาปีละ 5 หมื่นล้าน งานวิจัยยันโทรคุยช่วยเลิกบุหรี่ดีกว่าอ่านคู่มือเอง 50% แถมส่งข้อมูลทางไปรษณีย์ฟรี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ สสส. ร่วมกันจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของประเทศไทยในการสนับสนุนการเลิกบุหรี่ โดย สสส. จัดงบประมาณสนับสนุนในปี 2551-2552 จำนวน 32 ล้านบาท ให้บริการผ่านหมายเลข 1600 ซึ่ง เดิมได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 โดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ และได้โอนมาและยกระดับจัดตั้งเป็นศูนย์บริการระดับชาติเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา งานวิจัยระดับนานาชาติหลายชิ้น พบว่า ผู้สูบที่เข้ารับบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ จะเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่า ผู้ที่อ่านคู่มือด้วยตนเองถึง 50%
“แต่ละปีรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูบบุหรี่มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยผู้สูบจะมีอายุเฉลี่ยสั้นลง 12 ปี และป่วยหนักเป็นเวลา 1.7 ปีก่อนเสียชีวิต การจัดตั้งศูนย์บริการเลิกบุหรี่ฯ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเชื่อว่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนไทย ทั้งผู้สูบและผู้ไม่สูบบุหรี่ได้”ดร.สุปรีดา กล่าว
รศ. ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ ผอ.ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ กล่าวว่า จากการเริ่มทดลองเปิดบริการศูนย์มา 3 เดือน มีผู้ใช้บริการเกือบ 4 พันราย ในอนาคตคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 2 พันรายต่อเดือน ซึ่งที่ศูนย์มีเจ้าหน้าที่ประจำซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ และผู้ผ่านการอบรม 22 คน ให้บริการ 18 คู่สาย ตั้งแต่ 7.30-20.00 น. นอกเวลาและวันหยุดมีการบันทึกข้อความเพื่อติดต่อกลับ ผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศเสียค่าใช้จ่ายเพียง 3 บาทต่อครั้ง การให้บริการมีทั้งเชิงรุกและรับ ติดตามผลให้กำลังใจ และบริการข้อมูลทางไปรษณีย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงบริการข้อมูลผ่านทาง www.thailandquitline.or.th และจะมีการประสานเชื่อมโยงการรับและส่งต่อที่จำเป็นกับการให้บริการเลิกบุหรี่ของภาครัฐและเอกชนต่างๆ ด้วย โดยจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 พ.ค. นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข
นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคนที่ 2 สสส.กล่าวว่า การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่สร้างภาระโรคภัยแก่คนไทยสูงเป็นอันดับ 3 ประมาณการผู้เสียชีวิตถึง 42,000 คน ต่อปี หรือ 115 คนต่อวัน แม้อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยจะลดอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันคนไทยยังสูบบุหรี่อยู่ถึง 11.03 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 6 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันปีละ 5 ล้านคน หรือวันละ 13,700 คน หรือนาทีละ 9.5 คน คือ 1 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตเกิดจากบุหรี่ บุหรี่จึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของประชากรโลก และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนใน 20 ปีข้างหน้า