คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอดูแลผู้ประสบภัยจากรถตกผลึก เสนอฉีกกฎหมายเก่า ผลักดันกฎหมายใหม่ให้รัฐบริหารจัดการประกันภัยรถแทนเอกชนทั้งหมด จ่ายค่ารักษา-สินไหมไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด เผยค่าบริหารจัดการ การตลาดประกันปีละกว่า 3.8 พันล้าน สูงเกินเหตุ ชี้หากภาครัฐทำเองประหยัดกว่า
ดร.ไพศาล จันทรภักดี คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอเพื่อการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ได้ข้อสรุปในการปฏิรูประบบการดูแลผู้ประสบภัยจากรถให้มีการใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ทดแทนการบริหารจัดการของภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535 ที่ยุ่งยาก รวมถึงค่าบริหารจัดการกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยของบริษัทเอกชนที่มีอัตราที่สูงมาก
ดร.ไพศาล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ให้มีการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ....ฉบับใหม่ โดยยกเลิกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อให้ภาครัฐสามารถเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนฯได้เอง ซึ่งจะทำให้ประชาชนจ่ายเบี้ยประกันภัยลดลง ได้รับสิทธิประโยชน์ในการคุ้มครองอย่างเต็มที่เพิ่มขึ้น เกิดกลไกการเข้าถึงค่าสินไหมทดแทนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามจะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอให้กับนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุขพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาต่อไป
“ในอดีตไม่มีระบบการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคน ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่มีผู้รับผิดชอบ กฎหมายนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่วันนี้ทุกคนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งรักษาฟรี ดังนั้นจึงต้องทบทวนในเรื่องนี้ เพราะแค่ภาครัฐบังคับให้ประชาชนทำประกันภัยของบริษัทเอกชนก็ผิดแล้ว”ดร.ไพศาล กล่าว
ดร.ไพศาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้แยกการรักษาพยาบาลกับค่าสินไหมทดแทนออกจากกัน และไม่มีเพดานว่าเบื้องต้นจ่าย 15,000 บาทที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด แต่ให้ปรับเป็นเพดานเดียวกัน โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด จนเป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาล แต่ให้จ่ายค่าสินไหมตามสิทธิของผู้ประสบภัยก่อน ส่วนถูกผิดจะพิจารณากันทีหลัง
“คณะทำงานฯมี 2 ทางเลือก คือ 1. ให้ภาครัฐเป็นผู้บริหารจัดการประกันภัยภาคบังคับเอง โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในส่วนของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ส่วนด้านอื่นๆ จะใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ดำเนินการแทน อาทิ การบริการเก็บเบี้ยประกัน ให้กรมการขนส่งทางบก ที่เจ้าของยานพาหนะจะต้องมาต่อทะเบียนทุกปี เก็บเบี้ยประกันเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่มีมติตามข้อที่ 1”ดร.ไพศาลกล่าว
ดร.ไพศาล กล่าวด้วยว่า สำหรับทางเลือกที่ 2 ที่คณะทำงานฯไม่ได้เลือก คือ หากให้บริษัทเอกชนดำเนินการเช่นเดิม จะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ ให้ลดค่าบริหารจัดการและกำไรในส่วนของภาคเอกชนลง รวมถึงให้มีบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัย เพื่อเป็นหน้าที่บริษัทตัวแทนภาคเอกชนในการประสานงานกับตัวแทนสถานพยาบาลคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ไม่ใช่สถานพยาบาลเบิกโดยตรงกับบริษัทประกันภัย
ด้านนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายใหม่คงนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ....ที่มีการนำเสนอในช่วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เสนอค้างไว้มาพิจารณาเป็นต้นแบบ เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการนำข้อมูลทางวิชาการ มาวิเคราะห์ด้วย แต่เนื้อหากฎหมายยังคงเน้นการใช้กลไกภาครัฐเข้ามาบริหารจัดการทั้งหมด และเน้นการจ่ายค่าสินไหมช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยไม่รอการพิสูจน์ถูกผิด โดยประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า ค่าบริหารจัดการเกี่ยวกับประกันภัยภาคบังคับของรถในแต่ละปีมีมูลค่าเกือบ 3.8 พันล้านบาท หรือประมาณ 38% ของเบี้ยประกันทั้งหมด ขณะที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยประมาณ 4 พันล้านบาทหรือประมาณ 40%เท่านั้น ซึ่งค่าบริหารจัดการสูงเกินไป หลายฝ่ายมองว่า เมื่อเป็นภาคบังคับ ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีค่าบริหารจัดการ โดยเฉพาะค่าการตลาดใดๆ หากภาครัฐดำเนินการงบประมาณในส่วนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมี
“เรามีหน้าที่เสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ความเห็นที่ต่างกันจากหลายฝ่ายหลายมุมมองคงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นในสังคม แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ฝ่ายบริหารจะตัดสินใจอย่างไร จริงอยู่ที่ผ่านมาภาคเอกชนดำเนินการดีกว่าภาครัฐ แต่ค่าบริหารจัดการที่สูงมากมายเพียงนี้ อาจทำให้เกิดคำถามขึ้นได้ว่าเพราะเหตุใดค่าบริหารจัดการ ค่าการตลาดถึงมาก ในขณะที่การทำประกันดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำ”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว