มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-สมาคมคนพิการ-มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกันแฉ คปภ.ร่วมมือบริษัทประกันรถ หมกเม็ดใช้เงินบริหารสูงกว่าจ่ายค่าสินไหมให้ประชาชนเฉียด 5 พันล้าน ชี้ เสนอความคุ้มครองเพิ่มแค่แกล้งเอาใจ เลี่ยงปัญหากสุดท้ายประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิ์ ร้องรัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถแทน
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ได้รับข้อมูลว่าคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับบริษัทประกันภัยเอกชน ปกปิดข้อเท็จจริงหมกเม็ดการบริหารกองทุนประกันภัยภาคบังคับ โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของบริษัทประกันภัยเอกชน โดยในปี 2551 บริษัทประกันภัยเอกชนใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมากถึง 4,785 ล้านบาท หรือ 47% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมีน้อยกว่าถึง 4,534 ล้านบาท ทั้งที่ปัจจุบันมีกรมธรรม์ 19.8 ล้านกรรมธรรม์เท่านั้น แสดงให้เห็นว่า มีการใช้งบประมาณบริหารจัดการสูงมาก จนไม่อาจรับได้ทั้งที่เอกชนมักอ้างว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการใช้งบประมาณเพื่อจ่ายค่าตอบแทนผู้ขายประกัน หรือส่งเสริมการขายที่สูงถึง 45-50% ของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ทั้งที่เป็นการประกันแบบบังคับ
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย มูลนิธิเมาไม่ขับ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถฉบับ พ.ศ.2535 แก้ไขปี พ.ศ.2551 โดยให้ประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ รับการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพของตนเอง เพราะประชาชนทุกคนได้รับการคุ้มครองด้วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว และให้ออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อจัดตั้ง “กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ” ที่คุ้มครองกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต โดยมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และงบประมาณในการบริหารกองทุนนี้ไม่เกินร้อยละ 5 หากคำนวณสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ในแต่ละปี 13,000 ราย และให้ได้รับการชดเชยสินไหมสูงสุด จำนวน 100,000 บาท คิดเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท รวมกับผู้ทุพพลภาพ 10% ของผู้เสียชีวิต จำนวนเงิน 130 ล้านบาท รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดราว 1,430 ล้านบาท
“หากมีการใช้เงินค่าบริหารจัดการไม่เกินร้อยละ 5 ประชาชนจะต้องจ่ายเบี้ยประกันตามกฎหมายจัดตั้งกองทุนฉบับใหม่ประมาณ 200 บาท สำหรับรถยนต์ และจำนวน 100 บาทสำหรับรถจักรยานยนต์เท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดภาระของประชาชน และทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากลดความซ้ำซ้อนของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ และกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ส่วนการที่ คปภ.ได้เตรียมเพิ่มความคุ้มครองหลักในส่วนค่าสินไหมกรณีได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จากเดิม 1.5 หมื่นบาท เป็น 3.5 หมื่นบาท และกรณีเสียชีวิตก็เพิ่มค่าสินไหมจาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มค่าชดเชยรายวันให้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.นั้น เห็นว่า มาตรการดังกล่าวดูเหมือนเป็นการเอาใจผู้ประสบภัยรถยนต์ แต่ในความเป็นจริงกลับหลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของระบบที่ขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
“จากการสำรวจประชาชนผู้ประสบภัยรถยนต์ ใน 48 จังหวัด จำนวน 666 คน พบ ผู้ประสบภัยรถยนต์มากกว่า 55. 3% ไม่ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ มีเพียง 42% ที่ใช้สิทธิ์ โดยในจำนวนนี้เกือบ 100% เมื่อใช้สิทธิ์แล้วก็เกิดปัญหา อาทิ การเบิกจ่ายยุ่งยากใช้เวลานาน บริษัทประกันบ่ายเบี่ยงไม่จ่าย ซึ่งต้องใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคม ควบคู่ไปสูงถึง 43.10% และ 16.10% ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาที่ผ่านมา เหยื่อจากอุบัติเหตุรถยนต์ ไม่ได้รับการชดเชยสินไหมที่เป็นธรรม” น.ส.สารี กล่าว