xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.ชี้ธุรกิจประกันภัยยังรุ่ง ดบ.ฝาก-มาตรการภาษีหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปภ. ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรวมปีนี้โต 12% คาดประกันชีวิต โตสูงถึง 15% เหตุคนห่วงชีวิต และฝากเงินแบงก์ได้ดอกเบี้ยไม่คุ้ม พร้อมดีเดย์ 1 ม.ค.ปีหน้า บังคับใช้แคช บีฟอร์ คอฟเวอร์ กับคนซื้อประกันภัยรถยนต์ จ่ายเบี้ยประกันเมื่อไรได้รับความคุ้มครองทันที ไม่ต้องรอรับกรมธรรม์ก่อน ด้านบอร์ด คปภ. ใจดี ยืดเส้นตาย “สัมพันธ์ประกันภัย” เพิ่มทุนเป็น 15 ต.ค.นี้ ยันยังไม่อยากปิดบริษัท หวั่นผู้เอาประกัน-เจ้าหนี้ไม่ได้เงิน

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงานคปภ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ คปภ.ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยรับในธุรกิจประกันภัยในภาพรวม 12% จากปีก่อน โดยคาดว่าจะมูลค่า 340,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 302,630 ล้านบาท โดยเป้าหมายดังกล่าวแบ่งเป็นธุรกิจประกันชีวิต โต 14-15% มูลค่า 230,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 201,982 ล้านบาท ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัย โต 7-8% มูลค่า 108,000-110,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 100,648 ล้านบาท

“ขณะนี้ ประชาชนทำประกันภัยมากขึ้น โดยเฉพาะประกันชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิต และได้รับประโยชน์จากการออมเงิน ที่ให้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับ สามารถนำมาลดหย่อนการเสียภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 50,000 บาท ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีนี้ ธุรกิจประกันชีวิตโต 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 102,911 ล้านบาท ธุรกิจประกันวินาศภัย โต 5.36% มูลค่า 52,808 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีหลัง น่าจะเติบโตได้มากกว่า เพราะประชาชนได้รับโบนัส และเงินรางวัลประจำปี จึงเชื่อว่า ทั้งปีน่าจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นางจันทรากล่าว

นางจันทรากล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2552 เป็นต้นไป คปภ. จะบังคับใช้มาตรการให้ผู้เอาประกันภัยรถยนต์จ่ายเบี้ยประกันให้กับตัวแทน หรือนายหน้าแล้วสามารถได้รับความคุ้มครองทันที (แคช บีฟอร์ คอฟเวอร์) หลังได้รับใบเสร็จรับเงินจากตัวแทน หรือนายหน้า แม้จะยังไม่ได้รับกรมธรรม์จากบริษัทก็ตาม จากเดิมจะต้องได้รับกรมธรรม์จากบริษัทก่อน จึงจะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้เอาประกันอย่างมาก เพราะบางครั้ง เมื่อจ่ายเงินให้ตัวแทน หรือนายหน้าแล้ว กว่าผู้เอาประกันจะได้รับกรมธรรม์จะกินเวลานาน หากในระหว่างนั้นเกิดอุบัติเหตุขึ้น บริษัทจะไม่ให้ความคุ้มครอง แต่หากใช้มาตรการใหม่แล้ว ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองทันที ขณะเดียวกัน บริษัทก็จะมีสภาพคล่องจ่ายค่าสินไหมได้มากขึ้นด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าว บังคับใช้แล้วกับการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต

ส่วนความคืบหน้าแก้ปัญหาฐานะทางการเงินของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด และบริษัท ธนสินประกันภัย จำกัด นั้น นางจันทรา กล่าวว่า ล่าสุด สัมพันธ์ประกันภัย ได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) ขอเลื่อนระยะเวลาเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จเป็นวันที่ 15 ต.ค.นี้ ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติตามที่ขอมา

สำหรับบริษัท ธนสินประกันภัย กำหนดจะเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ และจนถึงขณะนี้ทั้ง 2 บริษัท สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้เป็นบริษัทละกว่าพันรายแล้ว อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 รายยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดคภป.

“บอร์ดไม่อยากให้จะปิดทั้ง 2 บริษัท จึงต้องยอมขยายเวลาเพิ่มทุน เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้ว อย่างกรณีของบริษัท พาณิชย์ประกันภัย ที่สั่งปิดไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ผู้เอาประกัน และเจ้าหนี้อื่นๆ ยังไม่ได้รับเงินเลย การยื้อเช่นนี้ จะทำให้ผู้เอาประกัน และเจ้าหน้าอื่นๆ ยังคงได้รับเงินเรื่อยๆ โดยธนสิน นำทุนใหม่เข้ามาแล้ว 2 ครั้ง 36 ล้านบาท และ 45 ล้านบาท ส่วนสัมพันธ์ นำเงินใหม่มาบางส่วน แต่กรมคงไม่บังคับให้ทั้ง 2 บริษัทต้องควบรวมกับบริษัทอื่น เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ อยู่ที่ความสมัครใจของเอกชนมากกว่า”นางจันทรา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น