“มาร์ค” ฟุ้งผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” จัดเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพได้จริง เปิดช่องผู้ปกครองร้องหากพบโรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแฝง เผยเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา และแก้ปัญหาขาดแคลนครูต่อเนื่อง พร้อมเปิดพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กทำกิจกรรมลดปัญหา “เด็กแว้น” จี้ ศธ.เด็ดขาดลงโทษครูขืนใจศิษย์แลกเกรด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์”ถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม และเป็นปีการศึกษาที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งการเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ไม่น้อยกว่า 12 ปี แต่ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาก็ยังมีปัญหาอยู่มากในเรื่องของการเรียนฟรี โดยเฉพาะมีค่าใช้จ่ายอยู่หลายส่วน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียน ยังมีการร้องเรียนกันอยู่เป็นประจำ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า ช่วงที่เข้ามารับหน้าที่มีปัญหาในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ยืนยันว่า การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ก็คือ การลงทุนในเรื่องของการศึกษา การสร้างคน เพราะฉะนั้นรัฐบาลได้ตัดสินใจจัดงบประมาณ เพื่อจะลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในเรื่องอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน ตำราเรียน ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มงบประมาณที่จัดสรรให้โรงเรียนต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อที่จะให้ผู้ปกครองนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นเฉพาะสิ่งที่เป็นกิจกรรมพิเศษ นอกเหนือจากหลักสูตรพื้นฐาน เช่นเดียวกันกับบางโรงเรียน ซึ่งผู้ปกครองอาจจะมีฐานะหรือมีความพร้อมและก็มีการสละสิทธิ์ตรงนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำได้
“แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าการเปิดเทอมมาแล้วพบว่ายังมีการเก็บค่าใช้จ่ายแฝง ที่ไม่ควรจะเก็บ ก็สามารถที่จะร้องเรียนมาได้ช่องทางปกติ เช่น ที่ศูนย์บริการประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล 1111 ก็รับเรื่องนี้ และทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เองก็ได้เปิดสายเฉพาะ คือ 1579 สามารถที่จะร้องเรียนมาได้ และเราก็จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นายกฯ กล่าว
**เดินหน้า กรอ.ขยายโอกาสให้คนไม่จนก็กู้ได้
นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลกำลังผลักดันและปรับปรุง ก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมไป เพราะพบว่ามีเงินเหลืออยู่ใน กยศ. ขณะที่ยังมีเด็กนักเรียน นักศึกษา จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงกองทุน และปรับปรุงการบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เงินที่ออกไปล่าช้า เหมือนกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ได้มีการรวมกองทุนที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของกองทุนเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมให้สามารถที่จะดำเนินโครงการนี้ต่อ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรที่ถือว่าขาดแคลน หรือว่าเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาของนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในสาขาเหล่านี้จะสามารถกู้ยืมได้ในส่วนของค่าเล่าเรียนหรือค่าหน่วยกิต โดยไม่ได้จำกัดว่าผู้กู้นั้นจะต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย
**รับปากเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงที่ 2 รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ ทางทีมงานของรายการได้เชิญ 4 พิธีกรจากรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงทางช่อง 3 มาทำหน้าที่สัมภาษณ์นายอภิสิทธิ์ ในรายการดังกล่าว โดยคำถามส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางปัญหาของเด็ก สตรี และครอบครัว เมื่อ 4 พิธีกรถามว่าถึงเรื่องมาตรฐานของโรงเรียนที่ทำให้ผู้ปกครองยังให้ลูกไปเรียนไกลบ้าน เพราะมาตรฐานโรงเรียนไม่เท่ากัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งหลังการสนับสนุนเรียนฟรีฯ การจะแก้ไขในเชิงคุณภาพจะเป็นงานหนักต่อไป และตนเพิ่งไปเปิดสัมมนาเรื่องการปฏิรูปรอบสอง อยากจะเน้นในเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอน เพราะคือหัวใจในการไปแก้ปัญหาอีกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องแป๊ะเจี๊ยะ และไปจนถึงเรื่องว่ามีความวิตกกังวลว่า ถ้าเข้าโรงเรียนไม่ดีแล้ว แอดมิชชั่นจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา เพราะว่ามีทั้งเรื่องความพร้อมทางกายภาพ การพัฒนาครู การกระจายครู และอื่นๆ แต่ที่น่าหนักใจ คือ โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่มีอยู่หลายพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนหนึ่งอาจจะมีนักเรียนเพียงแค่ 20-30 คน และหากคิดตามเกณฑ์ปกติเขาบอกใช้ครูคนเดียวหรือครูสองคนเท่านั้น แต่ว่า 20-30 คนนี้มีตั้งแต่ ป.1-ป.6
“เคยไปที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ครูคนหนึ่งสอน ป.1-ป.3 อีกคนหนึ่งสอน ป.4-ป.6 ก็ลำบากมาก ทีนี้ก็ต้องพยายามหาความพอดีก็คือว่า จริง ๆ แล้วในอดีตก็พยายามหลีกเลี่ยงการที่จะไปยุบรวมโรงเรียน แต่หากการคมนาคมสะดวกขึ้น และมีบริการดูแลนี้ผมคิดว่าอาจจะต้องไปแนวทางนั้น ยกเว้นประเภทที่อยู่บนเขา หรือว่าจะต้องข้ามหุบเขาไปเรียน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังทำอยู่นะครับ และผมเองดูเรื่องของการบริหารงานบุคคลคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค. ด้วย โดยเอาผลการศึกษามาดูเรื่องว่า จำนวนครู ปัญหาการกระจายครูจะแก้อย่างไร ก็คล้ายๆ กับเรื่องของการขาดแคลนหมอ พยาบาล ตอนนี้กำลังเป็นการทบทวนอยู่” นายกฯ กล่าว
**เล็งให้ท้องถิ่นผลิตครูแก้ปัญหาขาดแคลน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จำนวนครูทั้งหมดนี้ไม่ได้ขาดแคลนมาก ปัญหามีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การกระจายไปตามพื้นที่ คือ ไปกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ในที่มีความเจริญแล้ว 2.ขาดแคลนบางวิชา เพราะฉะนั้นบางทีหาครูวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ภาษาต่างประเทศไม่ได้ ก็ต้องสอนสองอย่าง ก็จะมีโครงการเข้มข้นที่จะเร่งสร้างความพร้อมให้กับบุคลากรในบางสาขาวิชา ส่วนการกระจายในขณะนี้เฉพาะหน้าคงเป็นเรื่องการบริหารจัดการในระบบราชการ แต่สิ่งที่จะส่งเสริมคือให้การผลิตครูเหมือนกับผลิตหมอ พยาบาล ในพื้นที่ขาดแคลน ทำในท้องถิ่นให้ได้ เพราะว่าถ้าเกิดท้องถิ่นเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ เขาไม่ยอมปล่อยให้คนออกไปจากพื้นที่เขา ซึ่งต้องใช้เวลา จะคาดหวังว่า ปีนี้ ปีหน้าทำเสร็จคงเป็นได้ยาก
เมื่อถามถึงการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นักเรียนไม่ได้เรียนเต็มที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้พยายามที่จะปรับระบบหลายอย่าง เช่น กรณีของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ก็มีการสนับสนุนในเรื่องของครูเข้าไป และก็มีการสร้างความมั่นใจมากขึ้นว่าถ้าเป็นโรงเรียนรัฐ ก็จะมีการสอนในเรื่องของศาสนา ให้ประชาชนในพื้นที่เขามีความรู้สึกอุ่นใจว่าส่งไปอยู่โรงเรียนรัฐแล้ว วิถีชีวิตของเขา ความเชื่อของเขาได้รับการเคารพ ได้รับการดูแล ขณะเดียวกัน สำหรับโรงเรียนสอนศาสนาเราก็จะมีโครงการเข้าไปเชื่อมโยงว่า เด็กที่จบที่นั่นก็สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ เช่น เอาอาชีวะเข้าไปเพื่อทำโครงการเชื่อมโยงเสริมกับเขา
**ชี้โทษย้ายครูขืนใจนร.เบาไป จี้ ศธ.เด็ดขาด
นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามถึงปัญหาคุณครูข่มขืนเด็กแลกกับเกรด ว่า ต้องลงโทษเด็ดขาด คิดว่า เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ตนคิดว่าสิ่งที่บางช่วงในอดีตเราสะท้อนใจ คือ พอเกิดข่าววันรุ่งขึ้น โทษ ก็คือ โดนย้าย
“ผมก็เคยคิดอยู่ในใจว่าแล้วไม่เห็นใจคนที่ย้ายไปที่ในพื้นที่นั้นหรือ เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องเด็ดขาดนะครับ เพราะว่าไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไปบรรเทาโทษหรืออะไร และเราต้องพยายามทำให้สถานที่ศึกษาเป็นพื้นที่มั่นใจของผู้ปกครองและเด็กให้ได้ แต่ผมขอความเป็นธรรมนิดหนึ่งนะครับ อย่าไปคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป เด็กส่วนใหญ่หรือครูส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย” นายกฯ กล่าว
** “มาร์ค” เปิดพื้นที่สร้างสรรค์แก้ปัญหาเด็กแว้น
นายกฯ กล่าวด้วยว่า เรื่องสื่อเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็มีการผลักดันในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน และในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ได้มีการเปิดคลื่นสีขาว ปลอดโฆษณา เป็นรายการเด็กเยาวชนที่ FM105 เพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่ เพิ่มรายการที่ดีๆ สำหรับเด็กและเยาวชนของเรา และทำให้เด็กและเยาวชนของเรานั้นอยู่กับสิ่งที่ดีงาม อยู่กับสิ่งที่สร้างสรรค์ นี่ก็คือ งานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการศึกษาในช่วงที่กำลังจะมีการ หรือบางโรงเรียนก็ได้มีการเปิดเทอมไปแล้วนะครับ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงปัญหาเด็กแว้น ว่า นอกจากปัญหานี้ยังมีเรื่องยาเสพติด และพฤติกรรมอื่นๆ ซึ่งร้านเกมปกติคนบ่นกันเยอะที่สุด แนวทางคือต้องเอาน้ำดีล้างน้ำเสีย
“ผมตั้งใจเอาไว้ว่าเดือนพฤษภาคมจะสามารถเริ่มต้นจากการประชุมปฏิบัติการเรื่องการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งทำทั้งกายภาพ สื่อและสื่อไซเบอร์ด้วย กายภาพคืออยากจะให้มีการสนับสนุนลงทุนเรื่องลานกีฬา แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ เพื่อลูกหลานเราจะได้ใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ผมเห็นว่าเวลาเราจัดให้เขาจริงๆ เช่น ที่หอศิลป์ของ กทม.ก็มีคนที่สนใจศิลปะไป และข้างหน้ามีคนเอาของมาขาย ประเภทของประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ และมีเด็กวัยรุ่นเขาไปดู เขาสนใจเพราะมันมีเสรีภาพในการแสดงออก ช่วงหลังก็มีทั้งที่เป็นลานกีฬาใต้ทางด่วนแม้กระทั่งเอกชนเองก็ลงทุนในเรื่องสนามกีฬาให้คนไปเช่ามากขึ้น ผมสอบถามก็บอกว่าได้รับความสนใจ คือ ขอให้มันมี เพราะฉะนั้น ถ้าเราเพิ่มตรงนี้ได้ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ว่าในเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดด้วย อันนี้ก็จะช่วยได้ด้านหนึ่ง” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่ง คือ เรื่องของสื่อไซเบอร์ เว็บไซต์ต่างๆ ที่ควรจะเป็นเว็บไซต์ที่ทำให้เด็กได้ประโยชน์ และมีความคิดที่สร้างสรรค์ จะผลักดันเรื่องนี้ต่อ เหตุผลไม่ใช่เฉพาะเรื่องสังคม เป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะว่าต่อไปเศรษฐกิจจะแข่งขันกันด้วยความคิดที่สร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นหากไม่ส่งเสริมให้เด็กมีหัวคิดในการที่จะมีความเป็นอิสระ คิดนอกกรอบบ้าง สนใจเรื่องการออกแบบ คือ เรื่องทันสมัย กลายเป็นเรื่องที่ดี สนุกตื่นเต้น อันนี้เป็นคำตอบสำหรับทั้งสังคมทั้งเศรษฐกิจ ตั้งใจว่า จะประชุมเชิงปฏิบัติการ มีหน่วยงานที่มีเครือข่าย และงบประมาณอยู่แล้ว เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งเป็นงานในเชิงรุกที่จะต้องทำ สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องย้อนกลับไปเรื่องของครอบครัว ถ้าครอบครับอบอุ่น พ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ ปัญหาก็จะลดลง ส่วนเรื่องเด็กเล่นเกมหรือใช้คอมพิวเตอร์ ก็ต้องให้อยู่ในขอบเขต โดยอาจจะมีการจำกัดเวลา แต่ไม่ใช่การห้ามเลย
**รับ จนท.รัฐไม่เข้าใจ พ.ร.บ.ความรุนแรง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีความรู้ด้านกฎหมายเพียงพอที่จะเข้าใจกฎหมายดังกล่าวว่า สังคมเรามองว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะฉะนั้นกฎหมายที่จะทำงานได้ ต้องเห็นว่าความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วสามารถหาทางที่จะชะลอการรุนแรง ขณะเดียวกันก็ต้องใสุดโต่ง คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว เกิดขึ้นกับคนที่เขามีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ ดำเนินคดีเหมือนคดีอาญาไม่ได้ สิ่งที่ต้องการคือในที่สุดแล้วก็กลับไปอยู่กันได้ เป็นครอบครัวที่อบอุ่น เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ควรจะต้องเกิดขึ้นคือ หาทางทำอย่างไรมาทำความเข้าใจไกล่เกลี่ย ถ้าอารมณ์ยังร้อนกันอยู่ ก็มีบริการอาจจะแยกกันอยู่สักระยะหนึ่ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ความพร้อมของสถานีตำรวจที่จะทำเรื่องนี้ และความเข้าใจของบุคลากร ยอมรับว่าต้องใช้เวลาในการที่จะสร้างขึ้นมา ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทางตำรวจต่อไปว่า เราต้องเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะต้องทำ และในแง่ของกฎหมายก็ดีขึ้นโดยลำดับ