xs
xsm
sm
md
lg

"หมอหทัย" ผิดหวังรัฐไม่เปลี่ยนฐานคิดภาษี ส่งผลบุหรี่นอกได้เปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หมอหทัย ฉะผิดหวังรัฐเพิ่มภาษีแต่ไม่เปลี่ยนฐานคิดภาษีใหม่ บุหรี่นอกได้เปรียบ กินส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย เสนอเก็บภาษีจากราคาขายปลีกหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้คนเลิกทันที 10% เกินครึ่งสูบลดลง

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และอดีตประธานภาคีกฎหมายบุหรี่โลกขององค์การอนามัยโลก กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่ จากร้อยละ 80 เพิ่มเป็น ร้อยละ 85 ว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนฐานการคิดภาษีจากเดิม ซึ่งคิดภาษีบุหรี่ไทยเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าโรงงานและคิดภาษีบุหรี่ต่างประเทศจากราคาที่สำแดง ดังนั้นบุหรี่ไทยจะต้องเสียภาษี ร้อยละ 85 ของราคาหน้าโรงงานคือ 26 บาท แต่บุหรี่ต่างชาติ จะเสียภาษี ร้อยละ 85 ของราคาสำแดงคือ 7 บาทต่อซองเท่านั้น

“การคิดภาษีจากฐานที่ต่างกันเช่นนี้ทำให้บุหรี่ต่างชาติได้เปรียบบุหรี่ไทยและกินส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่คิดภาษีด้วยวิธีพิเรนท์อย่างนี้ เมื่อนำเอาเปอร์เซนต์ของการเสียภาษีไปแสดงร่วมกับประเทศอื่นๆจากทั่วโลกซึ่งคิดจากราคาปลีกก็เท่ากับว่าประเทศไทยลวงโลกได้” นพ.หทัย กล่าว

นพ.หทัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนได้ทำหนังสือเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เปลี่ยนวิธีจัดเก็บภาษี โดยเปลี่ยนมาเก็บภาษีจากราคาขายปลีกมา 2 รัฐบาลแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มาจนรัฐบาลชุดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะฝีมือของบริษัทบุหรี่ต่างชาติหรือไม่

“หากรัฐบาลจะอ้างว่าจะผิดกฎองค์การค้าโลก ก็จะเป็นการแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เพราะประเทศไทยเคยเก็บภาษีคิดเป็นเปอร์เซนต์ของราคาขายปลีกมาแล้วจนถึง พ.ศ. 2535 ซึ่งองค์การค้าโลกก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด หากคิดภาษีจากราคาขายปลีกบริษัทบุหรี่ข้ามชาติก็จะไม่สามารถเลี่ยงภาษีที่ถูกต้องได้ รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาท ประชาชนก็จะเลิกสูบ ทำให้เจ็บป่วยและล้มตายน้อยลง” นพ.หทัย กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ จะเป็นผลดีมากกว่าเป็นผลเสียต่อผู้สูบบุหรี่ เนื่องจากการขึ้นภาษีบุหรี่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสูบบุหรี่ลดลงหรือเลิกสูบ โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่กลุ่มที่มีรายได้น้อย โดยจากงานวิจัยที่ศึกษาชายไทยที่สูบบุหรี่ จากทุกภาคของประเทศในปี 2549 ถึงผลกระทบหลังจากที่รัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่จาก ร้อยละ 75 เป็น ร้อยละ 79 ทำให้ราคาบุรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ15 นั้น พบว่า มีผู้เลิกสูบบุหรี่ทันที ร้อยละ 10 และผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ58 สูบบุหรี่ลดลง ขณะที่ ร้อยละ10 เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ตราที่มีราคาถูกกว่า ส่วนร้อยละ 23 เปลี่ยนไปซื้อบุหรี่เป็นมวน ๆ แทนการซื้อเป็นซอง และร้อยละ 9 เปลี่ยนไปสูบบุหรี่มวนเอง

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ถึง พ.ศ.2550 รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่มาแล้วรวมแปดครั้ง ทำให้ราคาบุหรี่ไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากซองละ 15 บาทเป็น 45 บาทและล่าสุด 58 บาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประชากรกลุ่มที่จนที่สุดของประเทศ โดยอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรกลุ่มนี้ลดลงจาก ร้อยละ 42 ในปี พ.ศ.2534 ลดลงครึ่งหนึ่งโดยเหลือเพียง ร้อยละ 20.7 ใน พ.ศ.2550 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนกลุ่มที่จนที่สุดที่ใช้ไปกับการสูบบุหรี่ลดลงจาก ร้อยละ16.30 ของรายได้ครัวเรือนในปี พ.ศ.2534 เหลือ ร้อยละ 8 ในปี 2550

“สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของธนาคารโลกที่ให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่และเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะการช่วยให้คนสูบบุหรี่น้อยลงหรือเลิกสูบบุหรี่เป็นการช่วยประหยัดเงินที่จะต้องเสียไปกับการสูบบุหรี่ แต่เงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นประโยชนต่อครอบครัว นอกเหนือจากการทำให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วย” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น