xs
xsm
sm
md
lg

WHO เลือกไทย-บราซิล ต้นแบบเช็ก กม.คุมบุหรี่ แนะเก็บภาษียาเส้นมวนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์การอนามัยโลก เลือก ไทย และ บราซิล เป็นประเทศต้นแบบสำรวจการปฏิบัติตามกฎหมายบุหรี่ แนะไทยเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การห้ามโฆษณา การส่งเสริมการขายยาสูบข้ามพรมแดนทางอ้อมผ่านทางอินเทอร์เน็ต และจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเอง เพื่อลดอัตราการบริโภค ชี้ยังมีผู้ประกอบการไม่ทำตามกฎหมายอยู่บางส่วน พร้อมเน้นกฎหมายเชิงรุกให้มากขึ้น

วันนี้ (14 พ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงมอรีน อี.เบอร์มิ่งแฮม (Dr. Maureen E Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และ นายแพทย์อมันโด เปรูก้า (Dr. Armando Peruga) ผู้ประสานงานเสริมสร้างศักยภาพด้านการควบคุมยาสูบ ประจำองค์การอนามัยโลก แถลงข่าวผลการสำรวจความสามารถของประเทศไทย ในการปฏิบัติตามนโยบายการควบคุมยาสูบ

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศใช้ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบนานาชาติ และมีประเทศสมาชิก 157 ประเทศ ร่วมลงนามในสัตยาบัน ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย โดยในปีนี้องค์การอนามัยโลกจึงทำการประเมินผล โดยคัดเลือกประเทศไทยและประเทศบราซิล เพื่อนำผลการสำรวจไปใช้ในการจัดทำแผน และคู่มือการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศให้สมบูรณ์ ครอบคลุมแต่ละมาตรา ตามนโยบาย โดยประเด็นการสำรวจครั้งนี้เน้นหนักที่ 6 มาตรการ ได้แก่

1.การกำกับนโยบายการป้องกันและควบคุมการใช้ยาสูบ (Monitor Policy) 2.การปกป้องประชาชนจากควันบุหรี่ (Protect people from tobacco smoke) 3.การให้ความช่วยเหลือในการเลิกใช้ยาสูบ (Offer help to quit) 4. การ เตือนถึงอันตรายของยาสูบ (Warning) 5.การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ห้ามโฆษณา ห้ามส่งเสริมการขายและสปอนเซอร์ (Enforcement of laws) และ 6.การขึ้นภาษียาสูบ (Raise tax)

สาเหตุที่องค์การอนามัยโลก เลือกประเทศไทยเป็นประเทศนำร่องสำรวจการควบคุมบุหรี่ เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินการตามกรอบดังกล่าวมาโดยตลอด และมีผลงานอยู่ในระดับที่ได้ผลดีในอันดับแนวหน้าของโลก ซึ่งผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2550 พบ คนไทยกว่า 63 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน โดยเป็นคนที่ติดบุหรี่ต้องสูบประจำจำนวน 9.4 ล้านคน เป็นชาย 9 ล้านคน ที่เหลือเป็นหญิง สูบเฉลี่ยวันละ 10 มวน และสูบนานๆ ครั้งจำนวน 1.3 ล้านคน ผู้ชายสูบมากกว่าหญิง 22 เท่าตัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบท อายุที่เริ่มสูบเฉลี่ย 18 ปี

นายแพทย์หม่อมหลวง สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการประเมินผลงานด้านการควบคุมยาสูบของประเทศครั้งนี้ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยพบว่า การดำเนินงานด้านกฎหมายของไทยยังมีปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมการโฆษณา การส่งเสริมการขายยาสูบผ่านทางอินเทอร์เน็ต การจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเองเพื่อลดอัตราการบริโภค

“ผู้เชี่ยวชาญค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าไทยควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามการโฆษณาและส่งเสริมการขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ห้ามบริษัทบุหรี่ข้ามชาติและโรงงานยาสูบของไทยด้วย โดยมักอยู่ในรูปการให้การสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นการโฆษณาและส่งเสริมการขายทางอ้อม รวมทั้งการจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเอง การหาแนวร่วมหรือการสร้างเครือข่ายควบคุมป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ทุกเพศ ทุกวัย มากขึ้น และเสนอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบร่วมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคำแนะนำดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ประมาณเดือนมกราคม 2552 เพื่อปรับปรุงแก้ไขการควบคุมยาสูบในประเทศไทยให้เข้มข้นขึ้นต่อไป” นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว

ด้านนพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กล่าวว่า ในส่วนของการเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายนั้นเราไม่สามารถห้ามได้อย่างสิ้นเชิง แต่จะเน้นทำในบริบทของการห้ามในการส่งเสริมการขาย หรือด้านอื่นๆ และปัญหาที่สำคัญด้านการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย
1.กฎหมายต้องเอื้อต่อการบังคับใช้ 2.ในส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมายมีน้อย ซึ่งที่เป็นอยู่จะอาศัยแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และครู แต่ก็ต้องมีการฝึกอบรมทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย และการบังคับใช้ 3.ด้านของผู้ประกอบการ คือต้องมีความเสียสละต่อประโยชน์ส่วนรวมให้มากขึ้น และ 4.ประชาชนต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำความเข้าใจกับกฎหมายและยินดีเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐในการสอดส่องดูแล

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ยังถือเป็นจุดด้อยของไทยนั้นคือยังพบผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมากพอสมควร อย่างตามห้างสะดวกซื้อบางแห่งก็ยังมีการนำซองบุหรี่มาตั้งขายอยู่ ในด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังมีบางร้านอาหาร ผับ เธค บางแห่งปล่อยให้มีการสูบบุหรี่ภายในร้าน สิ่งเหล่านี้เองต้องอาศัยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นไปในด้านการตั้งรับ การร้องเรียน ซึ่งต่อไปก็ต้องยกระดับเป็นกฎหมายเชิงรุกมากขึ้น

ทั้งนี้ นพ.อมันโด เปรูก้า ผู้ประสานงานเสริมสร้างศักยภาพด้านการควบคุมยาสูบ ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า จากการทำการสำรวจนั้นทั้งประเทศไทยและบราซิล ต่างประสบความสำเร็จในการควบคุมยาสูบทั้งคู่ ในด้านของการห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย แต่ก็ยังมีปัญหาที่คล้ายกันคือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ได้ยังไม่เต็ม 100% แต่หากมองโดยรวมก็เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก



กำลังโหลดความคิดเห็น