xs
xsm
sm
md
lg

“อัมมาร” หวั่นรัฐหั่นงบ กระทบการรักษาประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อัมมาร” หวั่นรัฐหั่นงบ สปสช.จะส่งผลกระทบระยะยาว ไม่มีเงินพัฒนาระบบให้มีคุณภาพ ชมรมแพทย์ชนบทเร่งศึกษาวิธีกระจายงบประมาณ ชี้โรงพยาบาลชุมชนลำบาก ทำงานเชิงรุกแต่ได้งบน้อย เพราะไม่มีผู้ป่วยใน

วันนี้ (23 เม.ย.) นายอัมมาร สยามวาลา คณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาสุขภาพของประชาชน ว่า งบเหมาจ่ายรายหัวเอดส์และไต ที่มีการลดทอนจากเดิมที่เสนอ ถือว่ายังยอมรับได้ เพราะเป็นสัดส่วนไม่มาก ยังสามารถบริหารจัดการได้ ส่วนงบบริหารที่ สปสช.ขอไป 1,400 ล้านบาท และ ครม.ยังไม่ได้พิจารณา งบประมาณส่วนนี้ สปสช.ขอขึ้นค่อนข้างมากจากปี 2552 ร้อยละ 50 จากที่ได้เพียง 900 ล้านบาท สาเหตุเพราะต้องการให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น หากไม่ได้งบประมาณส่วนนี้ ก็ไม่สามารถพัฒนาระบบการทำงานโดยเฉพาะนวัตกรรมการรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น การใช้ยาที่เหมาะสม ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ ส่วนผลกระทบหากไม่ได้งบประมาณมาพัฒนาระบบ จะส่งผลระยะยาว จะทำให้การทำงานเชิงรุกของ สปสช.ทำได้ยากเพราะไม่มีเงินมาจัดการ

“หากจะโกงเงินประชาชนโดยโอนงบเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนมาใช้บริหารสำนักงาน ผมหาวิธีการทำได้แต่เราไม่ทำอย่างนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มา จัดสรรรให้โรงพยาบาลทั้งหมด เมื่อรัฐบาลตัดลดงบเหมาจ่ายรายหัวไปจากที่เสนอมาก ก็อยากให้รัฐบาลอนุมัติงบบริหารเต็มจำนวนที่เสนอขอ หากไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จะต้องพยายามบริหารไปตามต้นทุนที่มีอย่างจำกัด ซึ่งประเทศไทย เป็นแชมเปี้ยนของการตั้งงบบริหารสุขภาพต่ำมากๆ คือ ร้อยละ 1 ของงบกองทุนทั้งหมด ขณะที่อัตรามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3 เช่น ไต้หวัน ทำให้การบริหารจัดการกองทุนสุขภาพของประชาชนมีประสิทธิภาพสูง แต่ไต้หวันใช้เวลาในการลงทุนวางระบบข้อมูลสุขภาพประชาชนอย่างมหาศาลและใช้เวลานับ 10 ปี”

นายอัมมาร ระบุว่า สำหรับงบบริหารที่ได้มาเพิ่มส่วนหนึ่งจะนำมาทำโครงการศึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนการจัดสรรเพื่อกระจายงบประมาณใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่ต้องพัฒนาระบบการจ่ายอยู่แล้ว ที่จะเกลี่ยเงินใหม่ เช่น งบของผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกงบส่งเสริมสุขภาพเป็นต้น มีอีกหลายสิ่งที่ สปสช.อยากริเริ่มทำหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ประชาชน ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ และทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น แต่ขณะนี้ สปสช.ไม่มีงบประมาณศึกษาข้อมูลดังกล่าว อย่างรอบคอบ หากได้งบประมาณตามที่ขอก็จะพัฒนาประสิทธิภาพของโครงการได้อย่างดีเยี่ยม

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนประมาณ 30 แห่งได้ร่วมจัดทำข้อมูลความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.เนื่องจากระบบที่จัดสรรอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการรักษาผู้ป่วยบัตรทอง ขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงเรียนแพทย์ ได้รับประโยชน์เต็มที่ โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยใน เพราะการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวในปัจจุบันให้สัดส่วนของงบผู้ป่วยในจำนวนมาก ในงบประมาณปี 2552 ได้แบ่งให้ 1,080 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ประมาณ 3 เท่าตัว ที่ได้เพียง 365 บาท ผู้ป่วยนอก 700 บาทต่อหัว เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่ได้เพียง 400 บาท ขณะที่งบส่งเสริมสุขภาพ 190 บาทต่อหัว เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่ได้เพียง 40 บาท หรือคิดแล้วเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมด

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า อัตราดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า งบประมาณของผู้ป่วยในเป็นสัดส่วนที่มากกว่างบอื่นๆ และส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆที่มีเตียงมาก ขณะที่โรงพยาบาลชุมชมแทบไม่ได้อานิสงฆ์อะไรจากงบดังกล่าว เพราะโรงพยาบาลท้องถิ่นเน้นการทำงานเชิงรุก ด้านการส่งเสริมป้องกันมากกว่ารักษา แต่กลับได้รับงบประมาณส่งเสริมสุขภาพจากสปสช.น้อยมาก ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จเพื่อให้สปสช.นำไปพิจารณาปรับสัดส่วนงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น”

“งบเหมาจ่ายรายหัวของปี 2553 ที่รัฐบาลได้มีการตัดงบเหมาจ่ายรายหัวออกไปประมาณ 300 บาท ในจำนวนนี้มีส่วนที่เป็นเงินค่าตอบแทนแพทย์อยู่ 60 บาทต่อหัวประชากร หาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับปากว่า จะเจรจาให้ไม่สามารถทำได้ และไม่ได้งบดังกล่าว จะกระทบต่อขวัญกำลังใจของแพทย์ในชนบทอย่างแน่นอน”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น