xs
xsm
sm
md
lg

1คนให้ หลายชีวิตรอดตาย บุญยิ่งใหญ่“บริจาคอวัยวะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับเนื่องยาวนาน 15 ปีแล้วที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ได้ทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยมา แม้ในระยะแรกจะมีผู้ไม่เข้าใจและมีทัศนคติที่ผิดอยู่มากเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะก็ตาม แต่จากการทำงานอย่างหนักของทุกชีวิตในองค์กร ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นในการตัดสินใจทำบุญอันยิ่งใหญ่นี้ และเป็นที่น่าชื่นใจยิ่งว่ามีจนขณะนี้ มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะสูงถึงกว่า 500,000 คนแล้ว
ระหว่างทำการผ่าตัด จะให้น้ำยาถนอมอวัยวะเพื่อทำการรักษาสภาพอวัยวะที่ถูกตัดออกมาก่อนที่จะนำไปปลูกถ่ายอวัยวะ
** ผู้บริจาคต้อง “สมองตาย” เท่านั้น
นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เท้าความย้อนหลังไปเมื่อ 15 ปีก่อน ครั้งแรกตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยว่า ขณะนั้นการบริจาคอวัยวะถือเป็นของใหม่ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก และมีอีกไม่น้อยที่มีทัศนคติเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะแบบผิดๆ ส่วนใหญ่จะกลัวว่าเมื่อบริจาคไปแล้วจะทำให้ชาติหน้าพิการ อีกทั้งกลัวว่า อาจมีการซื้อขายอวัยวะ อวัยวะที่บริจาคไม่ได้รับการใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและไม่เกิดความเป็นธรรมในการจัดสรรอวัยวะ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อีกทั้งยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี

ดังนั้น จึงทำให้เกิดความคิดริเริ่มจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะที่มีระบบ และเป็นองค์กรกลางเพื่อส่วนรวม ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 สภากาชาดไทยจึงได้ลงมติการพิจารณาเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะเข้ามาช่วยเหลือโดยเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ เพราะเป็นองค์กรกลางการกุศล ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนและวงการแพทย์ จึงได้เริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะแห่งสภากาชาดไทย

“งานที่หนักที่สุดของเราคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องของการบริจาคอวัยวะ และการปรับทัศนคติให้คนไทยเข้าใจให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องภาวะสมองตาย 15 ปีมานี้เรามีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะราวๆ 500,000 ราย แต่มีคนไข้ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะไปได้แค่ 35 ราย ที่ตัวเลขผู้ป่วยได้รับการเปลี่ยนถ่ายน้อยทั้งที่มีผู้บริจาคมาก ก็เพราะว่าการตัดเอาอวัยวะจากผู้บริจาคออกมาเปลี่ยนให้ผู้ที่กำลังรอนั้น ต้องทำตอนที่ผู้บริจาคอยู่ในภาวะสมองตายเท่านั้น คือเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นไม่ได้ นอกจากสมองตายแต่เพียงอย่างเดียว”

“เราทราบว่าการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักนั้นเป็นภาวะที่ยากจะทำได้ แต่ผู้ป่วยสมองตายส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยออกซิเจน หรืออยู่ในสภาพของเจ้าชายนิทรา ไม่มีโอกาสฟื้นกลับมาได้เหมือนเดิม ทางการแพทย์ถือว่าผู้ป่วยสมองตายคือผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว แต่สำหรับญาติพี่น้องเราเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้เขาเข้าใจได้ว่า ร่างของบุคคลอันเป็นที่รักที่นอนมีลมหายใจนั้นเป็นผู้ที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งถือเป็นงานหลักของเราอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว แม้จะมีลมหายใจ และต้องให้ข้อมูลว่า สิ่งที่ยังเหลืออยู่ในร่างกายของผู้ป่วยนั้น จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังรอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เราเคยทำได้สูงสุดคือ 1 ผู้บริจาค เราเปลี่ยนให้ผู้ป่วยที่กำลังรอรับอวัยวะได้ถึง 7 ราย”
แพทย์ พยาบาล ได้รับการสนับสนุนจากกองบินตำรวจ การบินไทย และนกแอร์ ในการเดินทางไปเก็บอวัยวะ
** วิธีการทำงานของทีมแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ
นพ.วิศิษฏ์อธิบายถึงการทำงานของทีมแพทย์ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะว่า หลังจากที่ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเสียชีวิตลงด้วยภาวะสมองตาย หากแพทย์เจ้าของไข้หรือญาติทราบความจำนงในการบริจาคอวัยวะของผู้ตาย ก็จะโทรศัพท์มาบอกทีมแพทย์ที่รับผิดชอบการเก็บและปลูกถ่ายอวัยวะ
 
“เรื่องนี้ละเอียดอ่อน คือเราจะบอกผู้บริจาคว่า คุณต้องถือบัตรและคุณต้องบอกญาติถึงความตั้งใจของคุณ ถ้าเกิดเหตุร้ายเป็นอะไรไปเขาจะได้ทำตามความประสงค์ของคุณ แต่ก็มีที่ไม่ได้บอกญาติไว้หรือญาติทำใจไม่ได้ ไม่อนุญาตให้เราตัดอวัยวะมาปลูกถ่าย เราก็ไม่เอา คือมันละเอียดอ่อน เราเข้าใจ ก็เคยมีเคสแบบนี้บ้าง แล้วก็มีอีกไม่น้อยที่เจ้าตัวไม่ได้แสดงความจำนง แต่ญาติทำใจได้ และแจ้งบริจาคเลยหลังจากสมองตายก็มี"


"ในส่วนกรณีต่างจังหวัด หากผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไปเสียชีวิตในต่างจังหวัด เมื่อทางโรงพยาบาลที่รับตัวคนไข้ไว้แจ้งเรามา เราส่งทีมแพทย์ไปผ่าตัดและหิ้วอวัยวะมาเอง โดยเราได้รับการสนับสนุนจากกองบินตำรวจ การบินไทย และนกแอร์ ในการขนส่งทีมแพทย์และพยาบาลรวม 7 คนไปยังจังหวัดนั้นๆ ผ่าตัดเอาอวัยวะ และหิ้วใส่น้ำยาถนอมอวัยวะเอากลับมาผ่าตัดเปลี่ยนให้ทันที เพราะอวัยวะที่ตัดมานั้นมีเวลาจำกัด โดยหัวใจ อยู่ได้แค่ 4 ชั่วโมง ตับ12 ชั่วโมง ไต 24 ชั่วโมง ทีมแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา”
(จากซ้าย)ธันยพรรษ เกตุคง (แม่ผู้บริจาค)-นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์-น้องออย (ผู้เปลี่ยนหัวใจ) น้องออยได้มอบโมบายทำเองแก่นพ.วิศิษฏ์
** บุญครั้งใหญ่ของลูกชาย จากใจแม่ผู้เสียสละ
ธันยพรรษ เกตุคง มารดาของ “น้องกฤษฎ์” หรือ นายณัฐกฤษฎ์ พงษ์ประเสริฐ ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนราวสะพานจนศีรษะได้รับบาดเจ็บรุนแรง สมองตาย กล่าวทั้งน้ำตาเมื่อต้องย้อนความเจ็บปวดจากการสูญเสียบุตรชายคนโตและคนเดียวของครอบครัว
ศรีริต้า เจนเซ่น ดารานักแสดงผู้บริจาคอวัยวะ
วันเกิดเหตุเราได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล ตอนที่เราเห็นสภาพลูก ลูกก็โคม่าแล้ว ไม่รู้สึกตัว คุณหมอดีมาก คุณหมอบอกว่าเราจะรักษาลูกของคุณแม่อย่างเต็มที่ รักษาให้ดีที่สุด แต่อาการน้องสาหัสมาก ต่อมาคุณหมอก็แจ้งว่าน้องกฤษฎ์สมองตาย คือน้องจะไม่ฟื้นอีกแล้ว ถ้าฟื้นก็คือเป็นเจ้าชายนิทรา ไม่มีโอกาสจะกลับมาเหมือนเดิมได้ และคุณพยาบาลก็บอกแม่ว่า ถ้าแม่ทำใจได้ ทำบุญให้น้องเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วยคนอื่นเถิด

ตอนนั้นมันผ่านหูไป เรารับไม่ได้ว่าลูกเราตายแล้ว เราเห็นเขาก็ยังหายใจอยู่ หลังจากนั้นอีกครึ่งวันเราก็ไล่เดินถามหมอ ถามพยาบาล และถามคนที่เดินผ่านเราไปทุกคนว่า สมองตายนี่คือตายแล้วจริงหรือ มันทำใจลำบาก

“น้องกฤษฎ์เป็นเด็กผู้ชายคนเดียวในบ้าน ที่บ้านมีแม่ มีน้องสาว และก็มีคุณยาย บ้านเราเลี้ยงลูกอย่างเพื่อน มีอะไรก็พูดคุยกัน แต่ก็เข้าใจว่าน้องเป็นเด็กผู้ชาย ก็จะมีติดเพื่อน ติดรุ่นพี่ แต่พอผ่านไป 4-5 ชั่วโมงเราก็เริ่มตั้งสติและบอกตัวเองได้ว่า ลูกเราตายแล้วจริงๆ นะ แม่กับน้องสาวของน้องกฤษฎ์ก็เลยเดินไปที่เตียงเขา แล้วก็บอกเขาว่า แม่ขออนุญาตนะลูก กฤษฎ์ไม่ทันบวชให้แม่ก็ไม่เป็นไร แต่แม่ขอได้ไหม ขออวัยวะของลูกไปต่อชีวิตคนอื่น และขอให้ลูกเข้มแข็งอีกนิด รอทีมแพทย์เขามาเก็บอวัยวะก่อน อย่าเพิ่งหมดลมหายใจ ซึ่งจนทีมแพทย์มา เขาก็รอนะ รอจนทีมแพทย์มาเก็บอวัยวะได้” แม่ผู้เสียสละกล่าวปนสะอื้น
คาร่า พลสิทธิ์ ดารานักแสดง-พิธิกรผู้บริจาคอวัยวะ
ธันยพรรษได้กล่าวฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติผู้เสียชีวิตจากสมองตาย ว่าเธอมีความรู้สึกตื้นตันมาก ที่ลูกชายผู้จากไปของเธอ ได้สละอวัยวะช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังรอคอยอย่างมีความหวังได้หลายชีวิต

“ลูกเราจากไป แต่อวัยวะของลูกเรากำลังช่วยคนอื่นให้มีชีวิต ไม่มีบุญไหนที่เขาจะทำได้มากไปกว่านี้ เป็นบุญครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเขา”
น้องออย” ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนหัวใจ คนไข้ในพระมหากรุณาในสมเด็จพระบรมฯ
** ชีวิตใหม่และหัวใจดวงใหม่
“น้องออย” น.ส.พชรพร จงจิตต์ วัย 15 ปี ผู้ทุกข์ทรมานอยู่กับอาการป่วยโรคหัวใจที่ทำให้เธอแทบไม่ได้ไปเรียนหนังสือ อาการป่วยของน้องออยกำเริบมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น จนสุดท้ายแพทย์เจ้าของไข้ลงความเห็นว่า ทางเดียวที่จะช่วยชีวิตน้องออยไว้ได้คือการเปลี่ยนหัวใจ แต่ครอบครัวของเธอไม่มีเงินมากขนาดนั้น

“สุดท้ายเราหวังพระบารมีเป็นที่พึ่ง คุณแม่เขียนจดหมายไปทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานความช่วยเหลือ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระเมตตาหนู รับหนูเป็นคนไข้ในพระองค์ ต่อมาหนูก็ได้รับบริจาคหัวใจ ซึ่งเพิ่งผ่าตัดไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง” น้องออยพูดหอบๆ เธอไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้มากนักเนื่องจากร่างกายยังคงเหนื่อยล้าจากการผ่าตัด แต่เธอก็ได้ทิ้งท้ายว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และขอขอบคุณในความเสียสละอย่างยิ่งผู้เสียชีวิตที่มอบหัวใจให้เธอ ทำให้เธอมีชีวิตใหม่เช่นนี้
แอน ทองประสม ก็มาบริจาคอวัยวะ
สำหรับผู้สนใจจะทำบุญ สามารถโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับบริจาคอวัยวะได้ที่ 1666 หรือ 02-2564045-6

กำลังโหลดความคิดเห็น