xs
xsm
sm
md
lg

มาตรฐาน ‘สมองตาย’ ความตายที่มีค่าของของผู้ที่หัวใจยังเต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน ตายก็คือตาย

แต่เมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ความตายกลับกลายเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าที่คนเป็นจะเข้าใจได้ง่ายๆ อีกทั้งร่างกายของคนตายยังเกี่ยวพันกับคนที่ยังมีชีวิต

ดังนั้น เราจึงต้องกลับมาค้นหานิยามพื้นฐานของความตาย นั่นก็คือ ภาวะไหนที่จะบอกว่าคนคนนั้นตายแล้ว


1.

เร็วๆ นี้ ทางแพทยสภาได้กำหนดเกณฑ์การตายออกมาใหม่ ซี่งไม่เหมือนกับความตายที่คนทั่วไปเข้าใจ เกณฑ์นี้เรียกว่า ‘สมองตาย’ แปลง่ายๆ ว่า ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยคนใดสมองตาย ย่อมเท่ากับผู้ป่วยคนนั้นตายจากไปแล้ว

“เกณฑ์สมองตาย ต้องมีข้อวินิจฉัยชัดเจนว่า สมองถูกทำลายโดยไม่สามารถเยียวยาได้ ส่วนใหญ่ขั้นแรกจะตรวจสอบจากอาการที่ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ตรวจการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ขั้นที่สอง ต้องไม่มีภาวะว่าที่ผู้ป่วยได้รับสารพิษหรือยาต่างๆ ต้องผ่านสองข้อนี้ คือไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ บางทีจะให้แน่ชัดต้องอาศัยเวลา ต้องทอดเวลาไปขั้นต่ำก็ 6 ชั่วโมง เพื่อให้มีการยืนยันชัดเจน ดังนั้น ส่วนใหญ่จะต้องผ่านขั้นตอนการรักษาจนถึงที่สุดก่อน

“ขั้นตอนที่สาม คือการทดสอบการทำงานของก้านหรือแกนสมอง เพราะแกนสมองเป็นจุดศูนย์กลางของสมอง ถ้ามันสูญเสียโดยถาวรแล้ว สมองส่วนอื่นๆ ก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว สมองส่วนที่จะสูญเสียเป็นอันดับสุดท้ายก็คือแกนสมองนั่นแหละ ฉะนั้น เราจึงใช้เกณฑ์การตรวจแกนสมองเป็นหลัก
 
“แกนสมองตัวที่เราตรวจหลักๆ คือการตรวจการไม่หายใจ เพราะว่าศูนย์การหายใจเป็นตัวสำคัญของชีวิต ถ้าไม่ทำงานโดยถาวรแล้ว ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งถ้าตรวจแล้วพบว่าศูนย์การหายใจสูญเสียถาวร ทั่วโลกก็ยอมรับว่าสมองตายและเสียชีวิตแล้ว โดยจะมีการตรวจ 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 6 ชั่วโมง ถ้าอายุต่ำกว่า 18 ถึง 1 ขวบ ก็ 12 ชั่วโมง ต่ำกว่า 1 ขวบก็ 24 ชั่วโมง เพราะพวกที่อายุน้อย สมองอาจจะมีความทนทานมากกว่า” นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าว

นายแพทย์สุกิจ อธิบายต่อว่า เมื่อสมองตายแล้ว หัวใจอาจจะยังเต้นอยู่หากได้รับการกระตุ้น แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ หัวใจจะหยุดเต้นภายใน 3 วัน เพราะแกนสมองคือส่วนที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ

ประโยชน์ที่ได้จากการกำหนดเกณฑ์สมองตายคือ ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าสมองตายนั้น ในระยะแรก อวัยวะต่างๆ จะยังทำงานได้ดี หากพูดคุยกับทางญาติผู้ตายและยินยอมให้บริจาคอวัยวะ อวัยวะจากผู้ป่วยสมองตายซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 รายต่อปี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยคนอื่นๆ

2.

ทุกวันนี้ มีคนไข้ที่รอบริจาคอวัยวะในประเทศไทยอยู่ประมาณ 2,500 คน แต่อวัยวะที่ได้จากการบริจาคของคนไข้ที่มีอาการสมองตายนั้นมีไม่เกินปีละ 100 ราย ซึ่งคนไข้ที่รออวัยวะเหล่านั้น จำเป็นที่จะต้องได้การบริจาคจากคนไข้ที่เสียชีวิตด้วยอาการสมองตายเท่านั้น

“อวัยวะที่มาจากคนไข้ที่เสียชีวิตทั่วไป จะเป็นอวัยวะที่มาจากร่างกายของคนที่หัวใจหยุดเต้น ดังนั้น จะเป็นอวัยวะที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยง ซึ่งอวัยวะนั้นจะช็อคไป แต่ในกรณีที่มาจากคนไข้สมองตาย อวัยวะที่บริจาคนั้น จะมีเลือดไปเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ทำให้อวัยวะยังดีอยู่ แต่ถ้าเป็นกรณีที่หัวใจหยุดเต้น เราอาจจะนำเนื้อเยื่อต่างๆ จำพวกแก้วตา ผิวหนังหรือกระดูกมาใช้เท่านั้น ถ้าเป็นอวัยวะอย่างอื่น เช่น หัวใจ ตับ ปอด ไต นั้น เราจะเอามาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยอาการสมองตายเท่านั้น”
นายแพทย์สุภนิตย์ นิวาตวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์การปลูกถ่ายและบริจาคอวัยวะของประเทศไทย

“เรื่องของเกณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องสมองตายนี้ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริจาคอวัยวะอยู่มาก ที่ผ่านมา คนไข้สมองตายนั้น ตัวยังอุ่นอยู่ หัวใจยังเต้นอยู่ ยังมีการดูแลอยู่ หลายคนเลยไม่คิดว่าเป็นการเสียชีวิต แม้แต่แพทย์ที่ให้การรักษาเอง บางทีก็ยังไม่อยากจะคิดว่าคนไข้เสียชีวิตไปแล้ว”

ซึ่งเป็นท่าทีของคนทั่วไปที่มีต่อสถานการณ์เสียชีวิตโดยอาการสมองตาย

“ความรู้เรื่องการบริจาคอวัยวะนี่มันมาทีหลัง ในช่วง 40 – 50 ปีมานี้เอง มันไม่แปลกที่หลายคนจะไม่เข้าใจ อีกอย่าง มันเป็นเรื่องที่อยู่ในวงการเฉพาะอยู่ อาจจะไม่ใช่หมอทุกคน พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไปจะเข้าใจทั้งหมด”

“จริงอยู่ที่ปฏิกิริยาสนองตอบของคนไข้อาจจะมีอยู่ เพราะมันเป็นการสั่งการจากไขสันหลัง แต่เรื่องของการรับรู้ที่มาจากสมองนั้นไม่มีแล้ว ซึ่งประเด็นก็คือต้องมีการตรวจและพิสูจน์ว่าคนไข้มีอาการสมองตายจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากสิ่งที่มีอาการคล้ายๆ กัน”

มุมมองของนายแพทย์สุภนิตย์เห็นว่า เกณฑ์สมองตาย นับว่ามีประโยชน์มาก ทั้งต่อแพทย์ที่จะได้วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และยังมีประโยชน์ต่อแวดวงการปลูกถ่ายอวัยวะ

“ส่วนจะมีปัญหาตามมาไหม มันอยู่ที่การควบคุม การมีเกณฑ์เรื่องนี้ออกมาเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อย ก็จะรู้ว่าคนไข้คนไหนเข้าข่ายการเสียชีวิตแน่แล้ว ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงการไปผ่าตัดเอาอวัยวะจากคนไข้ที่ยังไม่เสียชีวิต เพียงแต่มีอาการคล้ายการเสียชีวิตเท่านั้น

“ในปัจจุบันคนไข้สมองตาย ไม่มีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมา แต่ในอนาคตนั้น ถ้าเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าไปมากกว่านี้ แล้วสามารถทำให้คนไข้สมองตายนั้นฟื้นคืนมาได้ก็อาจจะต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์กันใหม่”

3.

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามและถกเถียงต่อไปจากเกณฑ์สมองตาย มีอยู่ 2 ประเด็น เรื่องหนึ่งคือ ‘การค้าอวัยวะ’

อย่างกรณีข่าวที่เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ที่ทางโรงพยาบาลให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคอวัยวะและทำโดยไม่ผ่านสภากาชาดไทย ซึ่งนายแพทย์สุกิจเล่าว่า ข้อเท็จจริงเราก็ไม่รู้รายละเอียด เรื่องมันปูดขึ้น หนังสือพิมพ์ก็ตีข่าวว่ามีการซื้อขายอวัยวะ อัยการทราบเรื่อง ก็ดูตามนักกฎหมาย หัวใจยังไม่หยุดเต้น เท่ากับฆ่าคนตาย แต่ศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า ขณะที่แพทย์เอาอวัยวะนั้น คนไข้ตายแล้ว

แต่ประเด็นการค้าอวัยวะนี้ นายแพทย์สุกิจ กล่าวว่า ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากระบบการบริจาคอวัยวะของเมืองไทยมีระบบที่ชัดเจนรัดกุม

“การบริจาคอวัยวะของประเทศไทยทำภายใต้สภากาชาดไทย มีระบบที่เป็นสากลมาก ไม่มีชื่อในทางเสียหายเกี่ยวกับการซื้อขายอวัยวะ สภากาชาดจะเป็นคนจัดสรร ญาติของผู้บริจาคจะไม่รู้เลยว่าอวัยวะที่บริจาคนั้นจะไปให้แก่ใคร และจะไม่มีการเรียกรับค่าตอบแทน ยกเว้นสภากาชาดจะให้สิ่งเชิดชูเกียรติ และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โลงศพ การส่งศพกลับภูมิลำเนา”

แต่ถ้าเป็นการติดต่อกันเองระหว่างผู้ป่วยกับโรงพยาบาลแบบไม่ผ่านสภากาชาด กรณีนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ นายแพทย์สุกิจบอกว่า อาจเกิดขึ้นได้ แต่กรณีเช่นนี้ถือเป็นการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เสี่ยงต่อการถูกยึดใบอนุญาตและเสียชื่อเสียง เขาคิดว่าไม่มีโรงพยาบาลไหนกล้าเสี่ยง หรือถ้าจะมีจริง จะต้องเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นอย่างลับๆ และไม่อยู่ในสารบบการตรวจสอบ ซึ่งเขาสรุปว่า ไม่น่าจะเกิดปัญหานี้ขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือมุมด้านชีวจริยธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนในสังคม เพราะเราคงรู้สึกแปลกพอสมควร ถ้าคนคนหนึ่งหัวใจยังเต้น ร่างกายยังอุ่น แต่บอกว่าเขาตายแล้ว และสามารถผ่าเอาอวัยวะออกไปจากร่างนั้นได้ อาจยังเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังยอมรับได้ยาก ต่อให้วันหนึ่ง กฎหมายจะยอมรับ แต่เรื่องในความรู้สึกของคนและเชิงวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่อยู่พ้นเรื่องกฎหมาย

และเราคงต้องถกเถียงกันต่อไปในเชิงปรัชญาว่าชีวิตและความตายคืออะไร
..........

‘สมองตาย’ ในความหมายทางการแพทย์ไทยและข้อถกเถียงทางกฎหมาย

แพทยสภาได้ออก ‘ประกาศแพทยสภาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย’ เมื่อปี 2532 โดยกำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่า เมื่อใดจึงจะถือว่าผู้ป่วยมีอาการสมองตาย อาทิ ผู้ป่วยต้องไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถหายใจด้วยตนเองและอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งต้องทำการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยผู้ป่วยจะไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง จึงจะถือได้ว่า สมองตาย

ส่วนวิธีการปฏิบัติในการวินิจฉัยสมองตายนั้นต้องกระทำโดยคณะแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และต้องไม่ประกอบด้วยแพทย์ผู้จะกระทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะรายนั้น โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้รับมอบหมายต้องลงนามรับการวินิจฉัยสมองตายและรับรองการตายด้วย

ทั้งนี้ จากอนุสนธิจากการประชุมโต๊ะกลม เรื่องการตายทางการแพทย์และการตายทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 แพทย์และนักกฎหมายจากสถาบันต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้เห็นพ้องต้องกันว่า บุคคลผู้ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย ถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และกำหนดนิยามของอาการ ‘สมองตาย’ ไว้ว่า หมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป

ต่อมาแพทยสภาได้ออกประกาศฉบับที่ 2 ใน พ.ศ.2539 โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในเรื่องการวินิจฉัยและการทดสอบว่าผู้ใดสมองตายอย่างแท้จริง รวมทั้งลดระยะเวลาการตรวจสอบจาก 12 ชั่วโมง เป็น 6 ชั่วโมง จึงจะถือว่าสมองตาย

อนึ่ง ผู้ป่วยที่สมองตายและแพทย์ได้ทำการยุติการช่วยชีวิตแล้วนั้น สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ตาม ‘ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2538 ออกตามพระราชบัญญัติวิชาชีพกรรม พ.ศ.2523’ ข้อ 3 โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วย

ล่าสุด หลังจากที่คณะกรรมการแพทยสภาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 จึงได้หารือเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นดำเนินการร่างประกาศแพทยสภาเรื่อง ‘หลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตาย’ และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการแพทยสภาในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อรับรองประกาศและบังคับใช้กับแพทย์ทั้งหมด เพื่อให้การวินิจฉัยการตายของแพทย์เป็นไปตามหลักสากลและไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมาย รวมถึงให้ผู้ที่มีภาวะสมองตายและมีความประสงค์บริจาคอวัยวะได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้รอรับการบริจาคต่อชีวิตต่อไป

กุลพล พลวัน นักกฎหมายและอัยการอาวุโส เคยแสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ไว้ว่า ปัญหาการตายทางการแพทย์ที่เรียกว่า สมองตาย นี้ ได้เกิดขึ้นมาช้านานแล้วและในทางปฏิบัติแพทย์ก็จะยุติการช่วยชีวิตผู้ป่วยเพื่อปล่อยให้ตายโดยสงบ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากความยินยอมของญาติผู้ป่วยด้วย แต่ในทางกฎหมายก็ยังมีข้อโต้เถียงกันอยู่ตลอดมาว่า การตายทางการแพทย์เช่นนี้จะถือว่าเป็นการตายในทางกฎหมายด้วยหรือไม่

เพราะแม้การยุติการช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยโดยการถอดเครื่องมือต่างๆ ออกจะมิใช่เป็นการลงมือฆ่าโดยตรง แต่แพทย์ก็ยังเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่น เพราะบุคคลทั่วไปยังมีความคิดกันว่าแพทย์มีหน้าที่ต้องช่วยชีวิตผู้ป่วย หากแพทย์ยุติการช่วยชีวิตเพื่อป้องกันการตายก็อาจถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยการละเว้นการกระทำได้เช่นกัน

ในขณะที่ยังมีการโต้แย้งกันในทางหลักวิชาการแพทย์ซึ่งถือว่าผู้ป่วยสมองตายคือผู้ที่ตายแล้วในทางการแพทย์ กับหลักวิชานิติศาสตร์ที่ยังไม่ยอมรับกันว่าการตายโดยอาการสมองตายนั้นเป็นการตายแล้วอย่างแท้จริง

กล่าวคือในทางกฎหมายนี้มีหลักถือมาช้านานในการพิสูจน์ความตายของบุคคลก็คือต้องตายตามธรรมชาติ โดยหมดลมหายใจและหัวใจหยุดเต้นอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

..........
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น