xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ลี้ภัย” เหยื่อ “แก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติ” ปัญหาที่รอการเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นปัจจุบัน มีจำนวนไม่น้อยที่เกิดจากชาวต่างชาติ ที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการก่ออาชญากรรมในรูปแบบของ การลักวิ่ง ชิงปล้น รวมถึงการก่ออาชกรรมในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย


การไหลทะลักเข้ามาของชาวต่างชาติทีมาอาศัยแผ่นดินประเทศไทยนั้น มีทั้งการเข้ามาในรูปแบบของผู้ลี้ภัย หรือกระทั่งการหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมีทั้งการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเข้ามาใช้ แรงงานต่างชาติ และกลุ่มผู้ลี้ที่หนีภัยจากสงครามและภัยอื่นๆ โดยได้รับการรับรองสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยจากองค์กรระหว่างประเทศ

และผู้ที่ลี้ภัยและหลบหนีเข้าเมืองเหล่านี้มักจะตกเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติ แม้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ เนื่องจากปัญหาการค้ามนุษย์ทวีความรุนแรงและแพร่กระจายสู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย และยังมีการสร้างช่องทางสำหรับสร้างความรู้ความเข้าใจถึงภัยของการค้ามนุษย์ และสร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์

แต่ “ขบวนการค้ามนุษย์” เหล่านี้ได้กลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และทวีความรุนแรงขึ้น เพราะเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดสภาวะไร้พรมแดนทั้งทางความคิด การติดต่อสื่อสาร บวกกับความก้าวหน้าด้านเส้นทางคมนาคมและเทคโนโลยี ปัญหาความยากจน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น การขาดโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรมอาชีพ การเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ช่องว่างของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ปริมาณความต้องการในการใช้บริการทางเพศ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” พบว่าปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ลี้ภัย ถ้ารัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศไม่มีนโยบายผู้ลี้ภัยที่ดีพอ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ระบุตกเป็นเหยื่อพ่อค้ากินหัวคิว ขายแรงงานต่างชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 88.3 ระบุขายบริการทางเพศ ร้อยละ 86.0 ระบุถูกล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 84.9 ถูกนำไปเป็นขอทาน ร้อยละ 84.2 ขายยาเสพติด ร้อยละ 82.6 ก่ออาชญากรรม ร้อยละ 67.9 ขายอาวุธสงคราม และร้อยละ 58.4 ขายอวัยวะของร่างกาย

ขณะที่ ความเข้าใจของคนไทยต่อ กลุ่มผู้ลี้ภัย พบว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ถูกต้องชัดเจน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 ยังคงเข้าใจว่า กลุ่มผู้ลี้ภัยคือกลุ่มคนที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเหมือนแรงงานต่างชาติทั่วไป ในขณะที่เพียงร้อยละ 22.2 เท่านั้นที่เข้าใจว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยคือกลุ่มคนที่หนีภัยจากสงครามและภัยอื่นๆ โดยได้รับการรับรองสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยจากองค์กรระหว่างประเทศ

เมื่อถามถึงบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สมาคมอาเซียน และสหประชาชาติ ในการดูแลผู้ลี้ภัยในประเทศไทย พบว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้สมาคมอาเซียน และสหประชาชาติเข้ามาดูแลสิทธิต่างๆ ของกลุ่มผู้ลี้ภัยดังนี้ คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.0 และร้อยละ 71.9 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติเข้ามาดูแลสิทธิในการรักษาพยาบาลของกลุ่มผู้ลี้ภัย ร้อยละ 60.2 และร้อยละ 67.4 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติเข้ามาดูแลสิทธิด้านการศึกษา ร้อยละ 59.6 และร้อยละ 64.2 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติเข้ามาดูแลเสรีภาพในการเดินทางของผู้ลี้ภัย ร้อยละ 59.1 และร้อยละ 60.1 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติดูแลสิทธิด้านการประกอบอาชีพของกลุ่มผู้ลี้ภัย ร้อยละ 57.8 และร้อยละ 61.0 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติดูแลเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ร้อยละ 57.7 และร้อยละ 62.5 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติดูแลด้านที่พักอาศัย และร้อยละ 63.0 และร้อยละ 67.1 ต้องการให้สมาคมอาเซียนและสหประชาชาติดูแลด้านอาหารของกลุ่มผู้ลี้ภัย

นอกจากนี้ สิ่งที่คนไทยอยากให้หน่วยงานระดับนานาชาติรณรงค์ให้กลุ่มผู้ลี้ภัยทำอะไรเพื่อสังคมไทยและคนไทย ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 อยากให้ผู้ลี้ภัยทำกิจกรรมแสดงความสำนึกต่อบุญคุณของแผ่นดินไทย และร้อยละ 92.7 เช่นกันระบุอยากให้เผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ร้อยละ 89.1 ให้ผู้ลี้ภัยในค่ายทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ให้กับชุมชนรอบข้าง ร้อยละ 87.3 ให้ผู้ลี้ภัยในประเทศที่สามกลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทยและประเทศบ้านเกิดของพวกเขา ร้อยละ 85.0 ให้ผู้ลี้ภัยจัดตั้งกลุ่มต่อต้านปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมทุกรูปแบบให้หมดไปจากสังคมไทย ร้อยละ 81.9 ให้ผู้ลี้ภัยที่ศึกษาจบจากประเทศที่สาม กลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และร้อยละ 74.6 ให้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย

ปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ลี้ภัย ถ้ารัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศไม่มีนโยบายผู้ลี้ภัยที่ดีพอ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ระบุตกเป็นเหยื่อพ่อค้ากินหัวคิว ขายแรงงานต่างชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 88.3 ระบุขายบริการทางเพศ ร้อยละ 86.0 ระบุถูกล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 84.9 ถูกนำไปเป็นขอทาน ร้อยละ 84.2 ขายยาเสพติด ร้อยละ 82.6 ก่ออาชญากรรม ร้อยละ 67.9 ขายอาวุธสงคราม และร้อยละ 58.4 ขายอวัยวะของร่างกาย ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่มีภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทย สมาคมอาเซียน และสหประชาชาติ ยังไม่ดีเพียงพอเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ปัญหากลุ่มผู้ลี้ภัย โดยพบว่า ร้อยละ 74.8 ร้อยละ 76.5 และร้อยละ 74.4 ที่คิดว่า รัฐบาลไทย สมาคมอาเซียน และสหประชาชาติ ตามลำดับ ยังไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ดีเพียงพอ โดยผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.6 เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยจะหยิบยกประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยเข้าสู่การประชุมอาเซียนเป็นวาระหลักในครั้งต่อไป

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า เกือบ 60 ปีแล้วที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ส่งผลให้กลุ่มผู้ลี้ภัยในประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิของความเป็นมนุษย์หลายประการ เช่น สิทธิการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้เป็นคนที่มีคุณภาพทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น สิทธิในการเข้าถึงระบบการบริการสุขภาพที่ดี และสิทธิการทำงานหาเลี้ยงชีพ เป็นต้น ตรงกันข้าม กลุ่มคนหลบหนีเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยกลับได้รับสิทธิต่างๆ มากกว่า จนทำให้กลุ่มผู้ลี้ภัยหนีออกไปนอกค่ายและตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ สร้างปัญหาที่รุนแรงต่อประชาชนคนไทยและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

“ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขที่ค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้คือ รัฐบาลไทยควรร่วมกับสมาคมอาเซียนและสหประชาชาติหยิบยกประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นวาระหลักในการประชุมอาเซียนครั้งต่อไป เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ครบวงจรเยียวยาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถร่วมเสริมสร้างสันติวิธีพัฒนาประเทศไทยเพื่อประชาชนคนไทยและประชาคมอาเซียนในภูมิภาคนี้ได้ต่อไป” ดร.นพดล กล่าว

ปัญหาที่เกิดขึ้นถือได้ว่าเป็นปัญหระดับชาติ ที่ต้องรอการแก้ไขจากทุกฝ่าย เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุเลาเบาบางลง หรือไม่ให้เกิขึ้นเลยจากการหากินระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น