xs
xsm
sm
md
lg

ตัวอ่อนแช่แข็งเริ่มมากแนะตั้งธนาคารจัดเก็บ พร้อมกรอบชัดเพื่อตั้งครรภ์หรือวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศในงานเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง ลูกคุณไข่ของใคร?...ลูกใครมาจากไข่ของคุณ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแนวทางการออกกฎหมายควบคุมการซื้อขายไข่หรือการจัดการตัวอ่อน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กหลอดแก้วเผย ปัจจุบันไทยมีตัวอ่อนแช่แข็งไม่ต่ำกว่าแสน เสนอให้จัดตั้งธนาคารตัวอ่อน เพื่อจัดเก็บอย่างมีประสิทธิภาพ อนาคตอาจมีประโยชน์มหาศาลในการวิจัย ส่วนเรื่องซื้อขายไข่ คนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ และไม่มีผลกระทบกับสังคมมากนัก ต้องรอรัฐบาลเห็นความสำคัญถึงจะมีความชัดเจน

ในงานเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "ลูกคุณไข่ของใคร?...ลูกใครมาจากไข่ของคุณ" ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.52 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย โดยมีแพทย์และนักกฎหมาย มาพูดคุยกันถึงประเด็นของการซื้อขายไข่ที่ ณ วันนี้ยังไม่มีกฏระเบียบชัดเจน และอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคตได้ รวมถึงการจัดเก็บตัวอ่อนที่เหลือ จากการรักษาผู้มีบุตรยากในปัจจุบันเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้

นพ.สมชาย สุวจนกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวกับทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ว่าการบริจาคหรือการซื้อขายไข่ในประเทศไทยเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีมานี้ ซึ่งแม้จะไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจน แต่การซื้อขายเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณของแพทย์ เช่นเดียวกับการซื้อขายอวัยวะ และการกระตุ้นให้ตกไข่ยังอาจเกิดอันตรายกับหญิงผู้นั้นด้วย

แม้จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาบ้างแล้วรวมถึงกรณีแม่อุ้มบุญด้วย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป และเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นในวงแคบ สังคมส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้และไม่ได้รับผลด้วย แต่หากเมื่อใดที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น และภาครัฐเห็นความสำคัญ ก็น่าจะมีกฏเกณฑ์บางอย่างออกมาควบคุม

ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณวณิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า ตามกฎหมายถือว่าร่างกายเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ทรัพย์บางประเภทก็ค้าขายไม่ได้ เพราะขัดกับความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งรวมถึงอวัยวะในร่างกาย แต่อวัยวะแต่ละชิ้นนั้นคนก็มองความสำคัญต่างกัน สำหรับไข่ก็ไม่มีนิยามชัดเจนว่าเป็นทรัพย์สินประเททไหน การซื้อขายไข่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามยุคสมัย ที่เกิดขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้ว

นอกจากนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมา คือมารดาตามกฎหมาย ฉะนั้นแม่อุ้มบุญ หรือผู้ที่รับตั้งครรภ์แทนนั้น ก็คือมารดาตามกฎหมายของเด็กที่เกิดมา แต่หากจะแก้กฎหมายเพื่อให้ทั้งแม่อุ้มบุญและแม่ที่เป็นเจ้าของไข่เป็นแม่ของเด็กด้วยกันทั้งสองคน ก็จะต้องหยุดการบริจาคหรือซื้อขายไข่ให้ได้ด้วย

ดร.เจษฎ์ บอกอีกว่า สังคมและเทคโนโลยีมีการเคลื่อนไหวและก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา เราสามารถออกกฎหมายให้ตามทันเทคโนโลยีได้ แต่กระบวนการออกกฎหมายจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา แต่ต้องสามารถแก้ปัญหาได้

นอกจากปัญหาเรื่องการซื้อขายไข่ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปได้ง่ายๆ ปัญหาเฉพาะหน้ากว่านั้นคือการจัดการตัวอ่อนที่เหลือจากการปฏิสนธินอกมดลูกในการรักษาผู้มีบุตรยาก ซึ่งประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีดังกว่ามาใช้กว่า 20 ปีแล้ว ข้อมูลจาก นพ.สมชาย ระบุว่าเฉพาะโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีตัวอ่อนแช่แข็งทั้งสิ้นมากถึง 9,417 ตัวอ่อน ตั้งแต่ปี 2533-2551 หากรวมทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง อาจมีมากกว่า 1 แสนตัวอ่อน ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้จนกว่าคู่สมรสนั้นจะไม่ต้องการเก็บไว้อีกต่อไปแล้ว

ส่วนแนวทางการจัดการตัวอ่อนที่ทั่วโลกใช้กันอยู่มี 3 แนวทาง คือ บริจาคให้คู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตร, บริจาคเพื่อการวิจัยและทดลองทางวิทยาศาสตร์ และทำลายทิ้ง ซึ่งสองแนวทางหลังนั้นยังเป็นข้อถกเถียงในเรื่องของจริยธรรมกันอย่างมาก และปัจจุบันยังไม่มีกรอบกฎหมายชัดเจน เพราะตัวอ่อนยังไม่มีสถานะชัดเจนตามกฎหมาย แพทย์ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคู่สมรสที่เป็นเข้าของไข่และอสุจิ

นพ.สมชาย เห็นว่าควรมีการจัดตั้งธนาคารจัดเก็บตัวอ่อน เพื่อดำเนินการจัดเก็บตัวอ่อนจากโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งการจัดเก็บตัวอ่อนนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก โดยอาจได้มาจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เป็นแหล่งตัวอ่อนสำหรับบริจาคให้คู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้ รวมถึงใช้ประโยชน์ในการวิจัยหากสามารถทำได้ในอนาคต

โดยเฉพาะการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรค ซึ่ง ดร.เจษฎ์ เสนอแนะเพิ่มเติมว่า หากจะจัดตั้งธนาคารตัวอ่อน ควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจนในเรื่องระยะเวลาการเก็บตัวอ่อนว่าจะเก็บเพื่อการตั้งครรภ์ได้นานกี่ปี แล้วหลังจากนั้นจึงเก็บเพื่อการวิจัย และเก็บได้นานเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเก็บตัวอ่อนมากเกินไปโดยที่ไม่เกิดประโยชน์และปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมากอีก

อย่างไรก็ตาม นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการโครงการชีวจริยธรรมและการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า หากจะกำหนดกฎหมายหรือแนวทางในการจัดการกับตัวอ่อนและการซื้อขายไข่ ควรจะอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในสังคมและกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นเรื่องของชีวจริยธรรม ตนเองไม่สามารถตอบแทนสังคมได้

ทั้งนี้ โดยหลักการของชีวจริยศาสตร์แล้ว นพ.ประเสิรฐกล่าวว่า จะต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ควรรู้มากกว่าว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำกับผู้มีอำนาจน้อยกว่า
นพ.สมชาย สุวจนกรณ์ (ขวา) และนายจุมพล เหมะคีรินทร์ ผู้ดำเนินรายการ
ดร.เจษฎ์ โทณวณิก
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
กำลังโหลดความคิดเห็น