xs
xsm
sm
md
lg

รบ.จีนตาพล่ามัว ปล่อยให้ค้าอวัยวะเสือกันโจ๋งครึ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพเสือเบงกอลตัวเมียในสวนสัตว์ Indroda ในเมืองคานธีนคร ประเทศอินเดีย ล่าสุด กลุ่ม EIA ได้นำผลการสืบข้อมูลอย่างลับๆ เรื่องการค้าอวัยวะเสือในจีนและทิเบต มาเปิดเผยต่อสาธารณะ และยังระบุว่า ทางการจีนทำเป็นมองไม่เห็นว่ามีการค้าอวัยวะเสืออย่างผิดกฎหมาย อยู่ในประเทศ (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี – กลุ่ม EIA เปิดผลการสืบข้อมูลอย่างลับๆ เรื่องการค้าอวัยวะเสือ ระบุ รัฐบาลจีนหลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นมองไม่เห็นว่ายังมีการค้าอวัยวะเสืออยู่ แถมไม่บังคับใช้กฎหมายจริงจัง

โดยหลักฐานที่องค์กรสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency - EIA) นำมาสนับสนุนคำกล่าวนี้ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมา คือภาพการลักลอบค้าอวัยวะเสือและเสือดาวสีขาว อย่างเช่น หนัง กระดูก และกรงเล็บ ที่ร้านค้าปลีกในประเทศจีน โดยระบุว่าเป็นภาพที่แอบถ่ายมาอย่างลับๆ

“จีนไม่มีทางแก้ตัวได้เลย... ถ้าจีนสามารถส่งยานอวกาศออกไปนอกโลกได้ ก็ควรต้องทำอะไรได้มากกว่านี้ เพื่อปกป้องชีวิตเสือที่อยู่ในธรรมชาติ” นั่นคือคำแถลงที่ เด็บบี้ แบงค์ส หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ของ EIA กล่าวต่อสื่อมวลชน

ทาง EIA ระบุอีกว่า อวัยวะเสือที่มีวางขายอยู่ในจีนนั้น ส่วนใหญ่นำมาจากอินเดีย โดยลักลอบขนผ่านเนปาล และการที่จีนไม่ได้บังคับใช้กฎหมายห้ามค้าอวัยวะเสืออย่างจริงจัง ก็ทำให้รัฐบาลในกรุงนิว เดลฮี ไม่เอาจริงในการปราบปราม

EIA แถลงด้วยว่า การค้าอวัยวะเสือในจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย สามารถทำรายได้จำนวนมหาศาล ด้วยความเชื่อว่าเป็นตำรายาโบราณและเป็นเครื่องกระตุ้นกำหนัด ส่วนหนังเสือก็นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้เพื่อการตกแต่ง

เพียง 5 วันก่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเทศเนปาลจะเริ่มขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่จากทั่วโลก จะมาถกถึงเรื่องปริมาณสัตว์ป่าในโลกที่ลดน้อยลง รายงานชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า “เกมแห่งความตายของแมวและหนู” หรือ "A Deadly Game of Cat and Mouse" ก็ได้ถูกนำออกมาเผยแพร่

รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า หนังสือหนึ่งผืนจะขายได้ราคาระหว่าง 11,660-21,860 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนกระดูกเสือหนึ่งกิโลกรัมจะขายได้ราคา 1,250 เหรียญสหรัฐฯ

ตัวเลขจาก EIA ระบุว่า ปัจจุบันนี้จีนมีเสือในธรรมชาติเหลืออยู่เพียงไม่กี่สิบตัว และทั่วทั้งโลกยังคงมีเสืออาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 2 พันตัวเท่านั้น

“จีนจะต้องบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายอวัยวะต่างๆ ของเสืออย่างจริงจัง เพราะแผนการอนุรักษ์เพื่อปกป้องสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ของอินเดีย ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายในจีน” เด็บบี้ แบงค์ส กล่าวเพิ่มเติม

การล่าเสือและการค้าอวัยวะเสือ ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาที่ 167 ประเทศ รวมทั้งอินเดีย ได้ลงสัตยาบันไว้ร่วมกัน ด้านประเทศจีนนั้น ได้มีการประกาศเมื่อปี 2536 ให้การค้าหนังและกระดูกของเสือ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ช่วงที่ผ่านมา มีขบวนการที่พยายามทำให้รัฐบาลจีนยกเลิกกฎหมายนี้

อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นาย Jairam Ramesh รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ได้เดินทางไปเยือนจีน เพื่อร่วมกันหารือถึงแนวทาง ว่าทั้ง 2 ประเทศจะช่วยกันอนุรักษ์เสือได้อย่างไร แต่การหารือดังกล่าวยังไม่มีมติออกมา

จีนถือเป็นประเทศเดียวในโลก ที่อนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์เสือจำนวนมหาศาล ในฟาร์มขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พบว่ามีเสือเลี้ยงอยู่ถึง 5 พันตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น