พ่อมีชีวิตอุทิศตับให้ลูกวัย 7 เดือน แพทย์จุฬาฯ ปลูกถ่ายสำเร็จเป็นรายแรกที่อายุน้อยที่สุด และเป็นตับจากพ่อสู่ลูกรายแรกของประเทศไทย ใช้เวลาทำผ่าตัด 10 ชั่วโมง ทั้งพ่อทั้งลูกปลอดภัย
รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตได้สำเร็จถือเป็นรายแรก ที่ผู้บริจาคตับยังมีชีวิต โดยการปลูกถ่ายและผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนตับมีการทำมาตั้งแต่ปี 2537 โดยได้ปลูกถ่ายและเปลี่ยนตับให้แก่คนไข้ไปแล้วประมาณ 110 ราย ทั้งจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตและผู้บริจาคที่มีชีวิต ส่วนรายล่าสุด ถือเป็นผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทยที่ผู้รับการปลูกถ่ายมีอายุน้อยที่สุดเพียง 7 เดือนครึ่ง และเป็นรายแรกที่ผู้บริจาคตับเป็นพ่อแท้ๆที่ยังมีชีวิตอยู่
รศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กชาย อายุ 7 เดือนครึ่ง จากประวัติการตรวจรักษาพบว่า มารดาเป็นพาหะของภาวะการขาด G6PD หรือภาวะพร่องเอนไซม์ของเม็ดโลหิตแดง ทำให้เม็ดโลหิตแดงเปราะ เด็กมารับการตรวจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน ประมาณต้นเดือนมกราคม 2551 ด้วยอาการตัวเหลือง ตาขาวมีสีเหลิือง อุจจาระสีซีด แพทย์รับไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยทำการฉีดสี ดูทางเดินของท่อน้ำดี พบว่าที่อน้ำดีไม่ตีบตัน แต่มีอาการอักเสบของตับ เมื่อตัดชิ้นเนื้อตรวจ พบว่าเด็กมีอาการอักเสบของตับตั้งแต่แรกเกิด (Neonatal Hepatitis) โดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาเดือนมิถุนายน 2551 แพทย์จึงลงความเห็นว่าต้องผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะผู้ป่วยมีอาการไข้และซึมลง
รศ.นพ.อดิศร กล่าวต่อว่า หลังจากแพทย์ลงความเห็นว่าต้องผ่าตัด วันที่ 22 มิ.ย.2551 ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน แพทย์รับตัวไว้เป็นผู้ป่วยในเพื่อทำการรักษา แต่ขณะที่รอผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ผู้ป่วยเริ่มมีเลือดออกง่าย ตัว ตา เหลืองมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตในเวลาอันสั้น จึงได้ปรึกษากับพ่อแม่ของเด็ก และทำการตรวจร่างกาย พบว่า ผู้เป็นพ่อสามารถเป็นผู้บริจาคตับให้แก่ลูกได้ ซึ่งเมื่อได้ทำความเข้าใจแล้ว พ่อยินดีที่จะบริจาคตับบางส่วนให้แก่ลูก จึงได้นัดทำการผ่าตัดเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2551 และการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับครั้งแรกเมื่อปี 2537 ผู้ป่วยรายแรกอายุขณะผ่าตัด 1 ขวบ 10 เดือน ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ อายุ 14 ปี สภาพร่างกายแข็งแรงดี ซึ่งการเปลี่ยนตับโดยปกติจะใช้ตับจากผู้เสียชีวิต แต่ครั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้ตับอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถรอตับจากผู้บริจาคได้ จึงเลือกใช้วิธีปลูกถ่ายจากพ่อซึ่งยังมีชีวิตอยู่ และมีความพร้อมในการที่จะเป็นผู้บริจาคตับให้แก่ลูก
ด้านรศ.นพ.รื่นเริง ลีลานุกรม อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การผ่าตัดครั้งนี้ใช้การวางยาสลบซึ่งใช้เวลาผ่าตัดนานประมาณ 10 ชั่วโมง ในระหว่างผ่าตัดได้ให้เลือดจากธนาคารเลือดแก่ผู้ป่วยเด็กที่รับการปลูกถ่ายไป 1 ถุง ส่วนที่เหลือใช้เลือดจากตัวเด็กที่ดูดออกมาแล้วนำมาปั่นใส่กลับเข้าไปใหม่
ผศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับครั้งนี้ กล่าวว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหรือเปลี่ยนตับของรพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ป่วยเด็ก สำหรับรายนี้ใช้ตับข้างซ้ายบางส่วนของพ่อนำไปปลูกถ่ายให้กับลูก โดยตับเป็นอวัยวะที่สามารถงอกกลับมาใหม่ได้ เพราะฉะนั้นตับของพ่อที่ถูกตัดแบ่งออกไปปลูกถ่ายให้กับลูกนั้นจะงอกกลับมาภายใน 1 เดือน สิ่งที่ยากของการผ่าตัดผู้ป่วยรายนี้ คือ เด็กตัวเล็กมาก ในระหว่างการผ่าตัด ต้องใช้ทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะการต่อเส้นเลือด
ผศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวต่อว่า ในการผ่าตัดครั้งนี้ศัลยแพทย์ระบบประสาท คือ ผศ.นพ.สุรชัย เคารพธรรม เป็นผู้ทำการต่อเส้นเลือดให้ หลังผ่าตัด พ่อซึ่งเป็นผู้บริจาคตับให้กับลูก มีอาการทั่วไปดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน พักฟื้นในห้องไอซียู 1 คืนหลังผ่าตัดและห้องผู้ป่วยธรรมดาอีก 11 วัน ก็กลับบ้านได้ ปัจจุบันสามารถขับรถไปทำงานได้ตามปกติแล้ว ส่วนลูกภายหลังผ่าตัด การทำงานของตับดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่มีไข้ แต่ยังคงต้องได้รับยาปฏิชีวนะและยากดภูมิคุ้มกัน คาดว่าจะสามารถกลับบ้านได้ในเร็วๆ นี้
ผศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวว่า ความสำเร็จของการผ่าตัดครั้งนี้จะช่วยทำให้สังคมเข้าใจถึงการสละอวัยวะของคนที่ยังมีชีวิตนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยได้ แต่กฎหมายของไทยกำหนดว่าต้องเป็นคนในครอบครัว หรือสายเลือดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิธีการปลูกถ่ายในลักษณะนี้ จะช่วยให้ผู้ที่รอการบริจาคอวัยวะมีความหวังมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ เช่น กรณีของยอดรัก สลักใจ จะสามารถใช้การปลูกถ่ายในลักษณะนี้ได้หรือไม่ ผศ.นพ.สุภนิติ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบรุนแรงสามารถใช้วิธีปลุกถ่ายในลักษณะนี้ได้ แต่กรณีของยอดรัก สลักใจ นั้นไม่แน่ใจว่ามีข้อจำกัด หรือข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนตับหรือปลูกถ่ายตับจากภาวะอื่นหรือไม่ เพราะหากอาการของโรคลุกลาม รุนแรงไปมากแล้ว การผ่าตัดอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมาก
ด้านนายนิคม ศรีชู อายุ 35 ปี บิดา ด.ช.ภพ ศรีชู เปิดเผยว่า ครั้งแรกก็รู้สึกกลัว แต่เมื่อคุณหมอได้ให้ข้อมูลและทำความเข้าใจถึงวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับอย่างละเอียด จึงตัดสินใจสละตับบางส่วนของตนให้ลูก เพราะหมอบอกว่าคงไม่สามารถรอตับจากผู้บริจาคได้ เนื่องจากอาการของลูกชายรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเมื่อมาถึงวันนี้ต้องบอกว่า ดีใจมาก เป็นความรู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูกที่ได้ให้ชีวิตใหม่แก่ลูก ส่วนสุขภาพของตนเอง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง มีบางช่วงที่มีอาการแน่นท้องบ้าง แต่คุณหมอบอกว่าสักระยะหนึ่งจะดีขึ้น ซึ่งขณะนี้สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติแล้ว