สธ.ขยายโครงการบริจาคอวัยวะ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่อวัยวะภายในใช้การไม่ได้ จำนวน 500 รายต่ออีก 1 ปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคอวัยวะเมื่อเสียชีวิต โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุจราจร ที่ดับชั่วโมงละเกือบ 2 คน เพื่อสร้างกุศลชุบชีวิตใหม่ผู้ป่วย 2,198 รายที่รอเปลี่ยนอวัยวะ มอบนโยบายให้ผู้บริหารโรงพยาบาลทุกจังหวัดช่วยเจรจาญาติผู้เสียชีวิต
วันนี้ (29 กพ.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาที่ห้องประชุมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ 250 คน เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานตามโครงการบริจาคอวัยวะเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2549 เป็นต้นมา ตั้งเป้าหมายรับบริจาคอวัยวะเพื่อผ่าตัดปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่มีอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ไม่สามารถทำงานได้ จำนวน 500 ราย
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีปัญหาเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่พบมากได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอดที่เกิดจากการเสื่อมของถุงลมปอด มีผู้ป่วยปีละประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งโรคดังกล่าวรักษาไม่หายขาด และทำให้อวัยวะสำคัญคือ หัวใจ ไต ปอด ตับ ตับอ่อน เสียการทำงานอย่างถาวร รักษาไม่หายขาด จะต้องใช้การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ทดแทน เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ชุบชีวิตใหม่ให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ซึ่งขณะนี้วงการแพทย์ไทยสามารถทำได้ แต่ปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาคนไทยมักมีความเชื่อว่าหากบริจาคอวัยวะจะทำให้เกิดชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบ 32 จึงมีผู้บริจาคน้อยมาก
ตามโครงการนี้ คาดว่า จะได้รับบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตที่สมองตายจำนวน 200 ราย แต่หลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2549 จนถึง 31 ธันวาคม 2550 ยังไม่ประสบผลสำเร็จทำได้เพียงร้อยละ 70 มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 140 ราย ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยโรคไตวาย โรคตับ ตับอ่อน ปอด และโรคหัวใจได้เพียง 303 ราย มากที่สุดคือปลูกถ่ายไต 247 ราย รองลงมาได้แก่ ตับ 44 ราย และหัวใจ 8 ราย เฉลี่ยผู้บริจาค 1 รายช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 5-6 ราย จึงได้ขยายโครงการออกไปจนถึงปลายปี 2551
นายไชยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจำนวน 2,198 ราย มากที่สุด คือ ไต 2,003 ราย รองลงมา คือ ตับ 149 ราย หัวใจและปอด 23 ราย หัวใจ 8 ราย และเฉพาะปอด ไตและตับ ไตและตับอ่อน อย่างละ 5 ราย ได้มอบนโยบายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดเทิดพระเกียรติต่อพระบรมวงศานุวงศ์ และให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รออยู่ และให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั้ง 95 แห่งเจรจาขอบริจาคอวัยวะกับญาติผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรที่อยู่ในภาวะสมองตายไม่มีโอกาสรอดชีวิตแล้ว
จากสถิติประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละกว่า 13,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และพบมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว อายุ 15-45 ปี ซึ่งมีร่างกายแข็งแรง และอวัยวะต่างๆ มีความสมบูรณ์ ทั้งนี้จะต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับญาติของผู้เสียชีวิตให้เกิดความศรัทธา และสมัครใจบริจาคอวัยวะเพื่อสร้างกุศลให้ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย ที่ผ่านมาพบว่าในคนไทย 1 ล้านคน จะมีผู้บริจาคอวัยวะเพียงไม่ถึง 2 คนต่อปี ในขณะที่แถบยุโรป เช่น ประเทศสเปน มีผู้บริจาคอวัยวะปีละ 34 คน สูงกว่าไทย 17 เท่าตัว
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ ระยะสุดท้าย ถ้าไม่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ส่วนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องทนทุกข์ทรมาน ฟอกเลือดอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง หรือล้างไตทางหน้าท้องทุกวัน แต่หากได้ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะก็จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะนี้ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่อยู่ได้นานที่สุด คือเปลี่ยนไต 36 ปี ตับ 32 ปี และหัวใจ 23 ปี ถือว่าคุ้มค่ามาก
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการรับอวัยวะบริจาค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะที่โรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 25 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่รับบริจาค มีทีมดูแลการผ่าตัดนำอวัยวะออก ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปให้มีศูนย์ประสานงานรับบริจาค เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลศูนย์และสภากาชาดไทย สำหรับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 7 แห่ง คือ รพ.ชลบุรี รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.ระยอง ร.พ.ขอนแก่น และรพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.ราชวิถี และสถาบันโรคทรวงอก
“ขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะกับศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยทั่วประเทศกว่า 460,000 คน การนำอวัยวะที่ได้รับบริจาคมาใช้นั้นผู้บริจาคจะต้องเสียชีวิตจากภาวะ “สมองตาย” คือ ก้านสมองตายเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเสียชีวิตทางการแพทย์ อุปสรรคที่พบคือ อวัยวะบางอย่างมีคุณสมบัติไม่ดีพอในการปลูกถ่าย และความไม่เข้าใจของญาติผู้เสียชีวิต ทำให้จำนวนอวัยวะที่จะนำมาใช้ได้จริงมีน้อยไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยในปี 2550 มีผู้บริจาคอวัยวะ 93 ราย
ในขณะที่มีผู้รอเปลี่ยนอวัยวะมากถึง 2,241 ราย โอกาสรับการปลูกถ่ายอวัยวะจึงมีน้อยมากเพียง 1 คนต่อผู้รอ 24 คน ทำให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 3 เสียชีวิตระหว่างรอ แต่หากมีผู้ แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมากขึ้น และได้ผู้บริจาคจากอุบัติเหตุจราจรมาเพิ่มก็จะร่นเวลารอให้สั้นลง โอกาสช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนอวัยวะจะมีมากขึ้น” นายแพทย์ปราชญ์กล่าว