สธ. - “สภากาดไทย” ร่วมสืบสานพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ชวนคนไทยบริจาคอวัยวะหลังเสียชีวิตถวายเป็นพระกุศล ชี้เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ ระบุร่างกายที่สมบูรณ์ 1 ร่าง ทั้งหัวใจ ตับ ตับอ่อน ปอด และไต สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ 7 คน โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รอปลูกถ่ายไตกว่า 2 พันราย ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะหลังสมองตายแค่ 140 ราย พร้อมเตรียมพัฒนา รพ.ราชวิถีเป็น “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ”
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้ร่วมมือกับศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สืบสานพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย เชิญชวนคนไทยทำบุญครั้งใหญ่ในชีวิต ร่วมบริจาคอวัยวะภายหลังเสียชีวิต เพื่อช่วยผู้ป่วยที่อวัยวะล้มเหลวให้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะทดแทนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด 95 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์ประสานงานรับแจ้งการบริจาคอวัยวะจากประชาชนที่อยู่ในภาวะสมองตายแล้ว เชื่อมโยงกับศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจัดสรรอวัยวะบริจาคให้ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการรักษาขั้นสุดท้าย ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ไต ล้มเหลว เพื่อให้กลับมามีชีวิตใหม่เหมือนคนปกติ ซึ่งในร่างกายคนปกติที่สมบูรณ์เพียง 1 ร่าง อวัยวะภายในทั้งหัวใจ ตับ ตับอ่อน ปอด และไต สามารถนำไปปลูกถ่ายช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ถึง 7 คน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรค ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย นับว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและล้างไตทางช่องท้อง เพื่อรอเปลี่ยนไตทดแทน ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีถึง 91,888 ราย ไตที่นำมาปลูกถ่าย นอกจากเป็นของญาติหรือคู่สมรสแล้ว ยังได้จากผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากสมองตาย
“ปัญหาสำคัญของประเทศไทยขณะนี้ คือ ขาดแคลนอวัยวะที่จะใช้ปลูกถ่าย เนื่องจากมีผู้บริจาคอวัยวะจำนวนน้อย ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อ กลัวว่าเมื่อเกิดใหม่ในชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ จึงต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้บุคลากรทางการแพทย์ เสนอทางเลือกแก่ญาติ เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายแล้ว ให้บริจาคอวัยวะที่ยังสมบูรณ์ ให้ผู้ป่วยที่รอความหวังปลูกถ่ายอวัยวะทดแทนเพื่อต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เนื่องจากอวัยวะส่วนต่างๆ ยังมีความสมบูรณ์ หากบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รอรับการบริจาคก็จะเป็นกุศลแก่ผู้เสียชีวิตอย่างยิ่ง” นพ.ปราชญ์กล่าว
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรอรับบริจาคอวัยวะ 2,241 ราย มากที่สุดคือ ไต 2,014 ราย รองลงมาเป็น ตับ 162 ราย หัวใจ-ปอด 28 ราย หัวใจ 17 ราย ปอด 8 ราย ไต-ตับและไต-ตับอ่อน อย่างละ 6 ราย ทั้งนี้ ระหว่าง 1 มิถุนายน 2549-31 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา มีผู้บริจาคอวัยวะที่อยู่ในภาวะสมองตายแล้วเพียง 140 รายเท่านั้น สามารถนำอวัยวะไปทดแทนในผู้ป่วยได้ 621 อวัยวะดังนี้ ไต 246 ราย ตับ 44 ราย หัวใจ 8 ราย หัวใจ-ปอด 1 ราย ไต-ตับ 2 ราย ไต-ตับอ่อน 1 ราย ลิ้นหัวใจ 168 ลิ้น ดวงตา 150 ดวง กระดูก 1 ราย เฉลี่ยผู้บริจาคอวัยวะ 1 ราย สามารถนำอวัยวะไปใช้ได้ 4.4 อวัยวะ ทั้งนี้ สธ.มีแผนพัฒนาโรงพยาบาลราชวิถี ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถทำการปลูกถ่ายไต ตับ หัวใจและปอดได้ ขณะนี้มีโรงพยาบาลในสังกัดที่อยู่ในภูมิภาค ที่สามารถผ่าตัด ปลูกถ่ายไตได้แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี