xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ทุ่มกว่า 100 ล้านซื้อน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปสช.ทุ่มกว่า 100 ล้าน ซื้อน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องจาก อภ.จะช่วยประหยัดได้ถึง 15 ล้านบาท พร้อมให้หน่วยบริการในโครงการ 23 แห่งพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้นกับผู้ป่วยโรคไต


นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนงบประมาณ 105 ล้านบาท ในการจัดซื้อน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องโดยให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดซื้อน้ำยาให้กับหน่วยบริการในโครงการ 23 แห่ง เนื่องจากเป็นการจัดซื้อรวม ทำให้ได้ปริมาณมากและราคาถูกกว่าท้องตลาด ขณะที่ราคาในท้องตลาดน้ำยาล้างช่องท้องราคาถุงละ 120-140 บาท ซึ่งผู้ป่วยโรคไตจะต้องใช้น้ำยาดังกล่าววันละ 4 ถุง เมื่อองค์การเภสัชกรรมจัดซื้อจำนวนมากจะได้ในราคาถุงละ 105 บาท ซึ่งจะประหยัดงบประมาณถึงปีละ 15 ล้านบาท ทั้งนี้ งบส่วนที่ประหยัดได้นั้นจะจัดสรรให้หน่วยบริการในโครงการทั้ง 23 แห่งนำไปพัฒนาคุณภาพบริการในการล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการดำเนินโรคสู่ภาวะไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายได้ การรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันทำได้เพียงแค่ชะลอการตายของไตให้ช้าลงเท่านั้น การป้องกันไม่ให้เป็นไตวายเรื้อรังจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในระยะยาวที่ต้องดำเนินการ เช่น การจัดการกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การจัดการกับปัจจัยเสี่ยงโรคไต

ทั้งนี้ อุบัติการณ์ความชุกในประเทศไทย ว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง แล้วพัฒนาเป็นโรคไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายมีอัตรามากกว่า 300 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน หรือมีผู้ป่วยประมาณ 18,000-20,000 คน โดยเป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 16,000 คน เพราะมีสัดส่วนผู้สูงอายุและเด็กที่มีความเสี่ยงสูงกว่ามากกว่าสิทธิประกันสังคม หรือข้าราชการ อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายโดยวิธีทดแทนการทำงานของไต อาทิ การผ่าตัดเปลี่ยนไต ล้างไตผ่านทางช่องท้อง การฟอกเลือด ต้องใช้จ่ายสูง เป็นภาระที่หนักหน่วงที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องรองรับ เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญต่องบประมาณของประเทศ จำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า การผ่าตัดเปลี่ยนไต เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด แต่ทำได้ประมาณปีละน้อยกว่า 300 ราย เนื่องจากมีอุปสรรคที่ไม่สามารถทำได้มากนัก สาเหตุที่สำคัญคือ ไม่มีไตให้เปลี่ยนถ่ายแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายจำนวนมากเพียงพอ เพราะต้องได้รับการการบริจาคอวัยวะโดยสมัครใจ ทั้งนี้ การล้างไตทางช่องท้องชนิดถาวรเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยความก้าวหน้าในการดูแลด้วยวิธีนี้ การล้างไตทางช่องท้องจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้เหมาะสมกับประเทศไทย ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในหน่วยบริการทั้ง 23 แห่ง โดยรพ.ที่เข้าร่วมโครงการจะมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการนั้น จะมีคณะกรรมการของหน่วยบริการคัดกรองผู้ป่วยก่อนเข้าโครงการ อย่างไรก็ตาม สปสช.มีเป้าหมายขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดอย่างน้อยมีจังหวัดละ 1 แห่ง จะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น