xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มบริการล้างไตผ่านช่องท้องเพิ่ม 30 แห่งเริ่ม 1 พ .ค.นี้‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรงพยาบาลเข้าโครงการให้บริการล้างไตผ่านช่องท้องเพิ่มอีก 30 แห่ง เริ่ม 1 พ.ค.นี้ สปสช.เดินหน้าหนุนโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการเพิ่มให้ได้ 100 แห่ง ขยายบริการคลอบคลุมผู้ป่วยโรคไต

นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช.ได้บรรจุบริการการล้างไตผ่านช่องท้องเข้าระบบบริการเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคไต เริ่มให้บริการเต็มรูปแบบดีเดย์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ในโรงพยาบาล 23 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหลังจากที่โครงการเปิดให้บริการมีผู้ป่วยขอเข้ารับบริการแล้ว 251 คน แล้ว แต่ก็ยังไม่พอกับประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการอีก 30 แห่ง ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้มีหน่วยบริการทั้งหมดที่จะให้บริการผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 53 แห่ง และในปี 2552 จะเดินหน้าให้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 100 แห่ง

ทั้งนี้ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไตประมาณ 18,000 ราย โดยการรักษาผู้ป่วยโรคไตเป็นที่ทราบกันดีว่ามีทั้งหมด 3 วิธี คือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต การฟอกเลือดด้วยเครื่อง และการล้างไตผ่านช่องท้อง โดยวิธีการรักษาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่มีข้อจำกัดทั้งจำนวนไตที่จะเปลี่ยนให้กับผู้ป่วย เนื่องจากมีปัญหามีผู้บริจาคน้อยมาก ดังนั้น จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการล้างไต ซึ่งการล้างไตด้วยเครื่องยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ เพราะมีจำกัด ไม่เพียงพอต่อการรองรับบริการ ขณะที่วิธีการล้างไต แม้ว่าจะสามารถทำโดยผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเองที่บ้าน แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยไม่ถึงร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคไตทั้งหมดที่เลือกวิธีการล้างไตผ่านช่องท้องทั้งที่เป็นทางเลือกที่ดี สาเหตุเกิดจากความไม่มั่นใจว่าการล้างไตผ่านช่องท้องจะเป็นวิธีที่ดี ประกอบกับในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่มีเวลาที่จะสอนการล้างไตให้ผู้ป่วยด้วยวิธีนี้ ดังนั้น จำเป็นที่ต้องอบรมและสร้างความเข้าใจวิธีการล้างไตผ่านช่องท้อง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ป่วยโรคไต

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การล้างไตผ่านช่องท้องในอดีตบ้านเราทำได้น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และ สิงค์โปร ซึ่งยังต้องทำความเข้าใจวิธีการล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นในความปลอดภัย ซึ่งวิธีการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีข้อดี คือ ผู้ป่วยจะมีอิสระในการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าการฟอกไตที่ต้องติดกับเครื่องฟอกไตเท่านั้น ขณะเดียวกัน สปสช.ได้ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมจัดหาน้ำยาล้างไตเพื่อให้บริการผู้ป่วยในโครงการ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า ผู้ป่วยที่จะได้รับบริการไม่ต้องเดินทางมาใช้บริการที่ รพ.สามารถนำน้ำยาไปล้างเองได้ที่บ้าน

ทั้งนี้ ต้องเร่งทำความเข้าใจกับแพทย์-พยาบาลในหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกับให้กับผู้ป่วยโรคไต และแพทย์-พยาบาลด้วยกัน ซึ่งบางแห่งได้เดินหน้าโครงการไป แล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และสปสช.มีแผนจะร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์เพื่อผลิตพยาบาลเฉพาะทางโรคไตเพิ่มเติมอีกปีล่ะ 100 คน สอบถามเพิ่มเติมหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการได้ที่สายด่วนบัตรทอง 1330

กำลังโหลดความคิดเห็น