xs
xsm
sm
md
lg

“หมอพินิจ” ส่งกฤษฎีกาตีความคุณสมบัตินั่งเลขา สปสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอพินิจ” ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความคุณสมบัติผู้สมัคร เลขาฯ สปสช.ยันลงนามทำสัญญาไม่ได้มีผลประโยชน์แอบแฝง มั่นใจจะได้รับความเป็นธรรม ยกกรณีหมอสงวนก็ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้าม

นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม และหนึ่งในผู้สมัครตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีมีการรายงานข่าวว่า มีคุณสมบัติไม่ครบ โดยเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32(12) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับกิจการของ สปสช.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.ภายในเวลา 1 ปีนั้น ว่า ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือผ่าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปยัง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลงนามในหนังสือที่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องดังกล่าวแล้ว

นพ.พินิจ กล่าวต่อว่า การเป็นคู่สัญญาของ สปสช.ที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้น ถือเป็นการเซ็นสัญญาตามหน้าที่เพื่อนำเงินงบประมาณไปใช้ในการดำเนินการของรักษาพยาบาลผู้ป่วย และคู่สัญญาเรื่องโครงการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา ที่ลงชื่อในนามของแพทยสภานั้น เป็นการเซ็นสัญญาเพื่อดำเนินโครงการร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และเครือข่ายภาคเอกชนอีกหลายแห่ง แต่แพทยสภารับเป็นเจ้าภาพในการทำงาน ซึ่งทั้งสองหน้าที่นั้นเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ได้มีการหาประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์อื่นใดนอกจากการทำงานเพื่อประชาชน

“ก่อนที่จะมาสมัครก็เคยมีคนบอกว่าระวังโดนเรื่องคุณสมบัติ แต่ส่วนตัวแล้วไม่ได้เป็นห่วงเรื่องนี้เท่าใดนัก และการที่ยื่นกฤษฎีกาให้ตีความก็เพราะมีเวลา สถานที่ที่จะสามารถทำได้ ก็ทำตามขั้นตอนไป แต่ไม่ได้เป็นห่วง และรู้สึกเฉยๆ เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจ หรือมีผลประโยชน์ส่วนตัวกับ สปสช.เพียงแต่คิดว่าพอมีความสามารถบ้าง ก็อยากเข้าไปทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศ ต่อประชาชนเท่านั้น แต่หากไม่ได้ ก็กลับไปทำงานตามเดิม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า คณะกรรมการสรรหาจะให้ความเป็นธรรม”นพ.พินิจ กล่าว

นพ.พินิจ กล่าวต่อว่า กรณีการเป็นคู่สัญญาของ สปสช.นั้น ในวาระที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขา สปสช.ดำรงตำแหน่ง ก็เคยต้องมีการยื่นตีความเช่นกัน เพราะ นพ.สงวน เคยดำรงตำแหน่งกรรมการองค์การเภสัชกรรม แต่กฤษฎีก็ตีความว่า ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตร 32(12) ฉะนั้น เรื่องของการตีความนั้น ไม่ควรตีความแคบเกินไป และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งหากตนมีกิจการขายยา ก็แน่นอนว่า ต้องมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอย่างแน่นอน แต่ในกรณีที่ตนทำงานตามโครงการซึ่งเป็นของรัฐ ไม่ได้มีงบประมาณเพื่อผลิตอะไร การตีความก็ต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น