xs
xsm
sm
md
lg

“พินิจ-พลเดช-อำนวย” ชวดเก้าอี้เลขาฯ สปสช. กฤษฎีการะบุขาดคุณสมบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พินิจ-พลเดช-อำนวย” แห้วเก้าอี้เลขาฯ สปสช. หลังกฤษฎีกาตีความขาดคุณสมบัติ เหตุเป็นคู่สัญญากับ สปสช.มาในระยะ 1ปี ด้านผอ.โรงพยาบาลนครปฐม ลุ้นบอร์ด สปสช.พลิกไม่เห็นตามที่กฤษฎีกาตีความ ชี้หากคำตัดสินไม่สมเหตุสมผล จะยื่นศาลปกครองคัดค้าน ระบุหากแพ้เพราะผลโหวตจึงยอมรับได้

ความคืบหน้าล่าสุดของการสรรหาเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำบันทึกเรื่องที่ 168-169/2551 เรื่องลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการ สปสช.ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยตอบข้อสอบถามของคณะกรรมการสรรหาฯ โดยระบุว่ากรณีที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการมีผู้เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ 3 ราย ได้แก่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อายุ 52 ปี เลขาธิการมูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, นพ.พินิจ หิรัญโชติ อายุ 59 ปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม และกรรมการแพทยสภา และ นพ.อำนวย กาจีนะ อายุ 51 ปี ที่ปรึกษาระดับกระทรวงด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.), อดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถือว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 32 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิ์เป็นเลขาธิการ สปสช.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้สรุปว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สปสช.ได้ทำสัญญากับแพทยสภา มูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้น นพ.พินิจ ซึ่งเป็นกรรมการแพทยสภา นพ.พลเดช ซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิชุมชนฯ จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.แห่งมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันฯ พ.ศ.2545 เว้นแต่สัญญาที่แพทยสภา และมูลนิธิฯทำกับ สปสช.ได้สิ้นสุดลงเกิน 1 ปี ก่อนที่ นพ.พินิจ และ นพ.พลเดชได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สปสช. หรือเว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะพ้นจากการเป็นกรรมการในนิติบุคคลนั้นเกิน 1 ปี ก่อนได้รับตำแหน่ง

“ส่วนกรณี นพ.อำนวย ซึ่งเคยเป็นรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯและตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้บริหารในนิติบุคคล ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ สปสช. ย่อมเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ตามมาตรา 32 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน เว้นแต่สัญญาที่ สปสช.ทำกับกรมวิทยาศาสตร์ฯ จะสิ้นสุดก่อน 1 ปี หรือ นพ.อำนวยพ้นจากตำแหน่งเกินหนึ่งปีก่อนแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สปสช.”

ทั้งนี้ นพ.พินิจ เคยได้ยื่นหนังสือผ่าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เพื่อลงนามในหนังสือที่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความเฉพาะในเรื่องที่โรงพยาบาลนครปฐมเป็นคู่สัญญากับ สปสช. และแพทยสภาก็เป็นคู่สัญญากับ สปสช.ในโครงการโครงการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยาด้วย ซึ่งในหนังสือดังกล่าวไม่ได้ตีความถึงผู้สมัครรายอื่นที่เข้าข่ายด้วย แต่ สปสช.ได้ส่งหนังสือตีความกับผู้สมัครที่เข้าข่ายทั้ง 3 ราย

นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม และในฐานะกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ตามจะขอรอดูมติคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) สปสช.ว่าจะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวหรือไม่ เพราะขั้นตอนต่อไปบอร์ดสปสช.จะต้องลงมติและออกเป็นคำสั่งปกครอง ให้บุคคลทั้ง 3 รายที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32 นั้น หากเป็นแนวทางนี้ ตนเองจะรอดูเหตุผลและหลักฐานในการตัดสินคำสั่งนั้น หากไม่สมเหตุสมผลและมีการออกคำสั่งโดยมิชอบ ตนเองจะดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อคัดค้านคำสั่งต่อไป

“หากบอร์ด สปสช.เห็นตรงข้ามกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนทำให้สามารถแข่งขันกับผู้สมัครรายอื่นได้ แต่ในที่สุดจะแพ้โหวตผมก็ยินดียอมรับ เพราะถือว่าได้ร่วมแข่งขันแล้ว ซึ่งจะต้องรอดูบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ที่จะประชุมในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ”นพ.พินิจ กล่าว

อนึ่ง นพ.พินิจ ในฐานะกรรมการแพทยสภา ซึ่งแพทยสภาได้ดำเนินการลงนามเป็นคู่สัญญากับ สปสช.วันที่ 28 ก.ย.2550 เรื่องโครงการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยจากการใช้ยา สัญญาเลขที่ 228/2550 รวมถึง นพ.พินิจยังเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญากับ สปสช.ด้วย ส่วน นพ.พลเดช ได้รับมอบหมายจาก นพ.ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิสถาบันฯ ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2549 โดยเป็นสัญญาจ้างดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับองค์การบริหารส่วนตำบล สัญญาจ้างเลขที่ 109/2549 ส่วน นพ.อำนวย เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าวถือว่ามีลักษณะเป็นนิติบุคคล และเป็นคู่สัญญาจ้างกับ สปสช. ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น