xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ตั้งองค์กรอิสระ แก้วิกฤตความสัมพันธ์หมอกับผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.หนุนตั้งกลไกอิสระแก้ปัญหาวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย แนะนำประสบการณ์มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ขยายให้ครอบคลุมทุกสิทธิ์ แจงปัจจุบันมีเพียงสิทธิ์บัตรทองที่ช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและแพทย์ พยาบาลกรณีได้รับความเสียหาย ระบุสามารถบรรเทาความเดือดร้อน โดยมีกรรมการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ช่วยลดวิกฤตผู้ป่วยและแพทย์ โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก-ผิด และรวมเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ด้วย เผยตั้งแต่ปี 47 ถึงปัจจุบันเยียวยาความเดือดร้อนแก่ประชาชน 128 ล้านบาท จาก 1,245 ราย

นพ.วินัย สวัสดิวร
รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งงชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่เริ่มมีมากขึ้น และมีข้อเสนอว่าควรมีองค์กรเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งบรรเทาความเดือดร้อน และให้มีกลไกคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ที่น่าเชื่อถือนั้น สปสช.สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกลไกในการบรรเทาปัญหา และเยียวยาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยมาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ แต่ครอบคุลมเฉพาะผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้น หากแนวคิดดังกล่าวขยายได้ครอบคลุม ไม่ว่าจะใช้สิทธิในระบบไหน ทั้งประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ หรือแม้กระทั่งจ่ายเงินเอง ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยได้

“พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้การดูแลทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เพราะความเสียหายจากการรักษาพยาบาลอาจเกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งฝ่ายคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์มีการเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือกันตามมาตรา 41 ถือเป็นกระบวนการที่เข้ามาช่วย และมีคณะกรรมการกลางมาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ พร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์และมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการทำให้เรื่องร้องเรียนถึงแพทยสภาและศาลลดน้อยลง” นพ.วินัย กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สปสช.ได้ช่วยเหลือตามมาตรา 41 เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวน 1,245 ราย เป็นเงิน 128 ล้านบาท โดยแนวทางนี้ไม่ได้มีการพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งการเยียวยาในลักษณะนี้ได้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ฟ้องร้องแพทย์ได้ เพราะประชาชนรู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นได้ และแพทย์โดยส่วนใหญ่ได้ตั้งใจทำงานเพื่อช่วยมนุษย์อย่างเต็มที่อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น