xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดลมอบรางวัล 9 ยอดอาจารย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประกาศผล 9 ยอดอาจารย์รางวัล ม.มหิดล ประจำปีการศึกษา 2550 จาก 9 สาขาวิชา ได้แก่ ศ.นพ.สัญญา สุขพณิชนันท์, รศ.พญ.ศิริวรรณ จิรสิริธรรม, ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล, ผศ.ดร.พญ.ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์, ดร.กิติกร จามรดุสิต, ผศ.ดร.ดวงใจ นาคปรีชา, ศ.ดร.พญ.นภาธร บานชื่น, ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี และผศ.ดร.สุนันทา วิบูลจันทร์

วานนี้ (4 มิ.ย.) มีการประกาศผลรางวัล ม.มหิดล ประจำปีการศึกษา 2550 โดยทำการคัดเลือกผลงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในสาขาต่างๆ ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลทุกสาขารวม 9 คน ได้แก่ ศ.นพ.สัญญา สุขพณิชนันท์, รศ.พญ.ศิริวรรณ จิรสิริธรรม, ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล, ผศ.ดร.พญ.ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์, ดร.กิติกร จามรดุสิต, ผศ.ดร.ดวงใจ นาคปรีชา, ศ.ดร.พญ.นภาธร บานชื่น, ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี และ ผศ.ดร.สุนันทา วิบูลจันทร์

ศ.นพ.สัญญา สุขพณิชนันท์ ผู้ได้รับรางวัลประเภทดีเลิศเป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นใน 4 สาขา ด้านการวิจัย การแต่งตำรา ความเป็นครู และด้านการบริการ กล่าวว่า พื้นฐานการทำงานด้านพยาธิวิทยาคือการบริการซึ่งจะนำไปสู่การสอน การทำงานวิจัยได้ และใช้ความรู้ตลอด 15 ปีเป็นวัตถุดิบในการแต่งตำราได้

“วิธีการทำงานจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เนื่องจากงานด้านพยาธิวิทยาเป็นหน้าที่สำคัญที่จะช่วยยืนยันโรคทางเลือดของผู้ป่วยให้กับโลหิตแพทย์ได้ ถ้าเราแยกโรคต่อมน้ำเหลืองออกได้เร็ว แพทย์ที่รับหน้าที่ต่อจากเราก็จะทำงานง่ายขึ้น เท่ากับว่าผู้ป่วยก็จะมีทางหายได้เร็วขึ้นเช่นกัน” ศ.นพ.สัญญา กล่าว

ด้าน ดร.กิตติกร จามรดุสิต เจ้าของรางวัลสาขาการประดิษฐ์ กล่าวถึงการใช้พลาสติกใสทนแรงกระแทกสูง โดยใช้ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และพอลิยูรีเทนเพิ่มการทนแรงกระแทกว่า ขณะนี้แผ่นพลาสติกในทนแรงกระแทกได้รับการยอมรับจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว อาทิ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ กระจกด้านหน้าหมวกกันน็อก แผ่นกระเบื้องใส และพัฒนาสู่เกราะกันกระสุนชนิดใสที่มีน้ำหนักเบาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยล่าสุดได้พัฒนาสู่งานทันตกรรมที่เพิ่งจดสิทธิบัตรไปคือ การผลิตแผ่นทันตกรรมจัดฟันล่องหนร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดฟันสวยงามให้ถูกลง

ส่วนอีกหนึ่งรางวัลในสาขาการประดิษฐ์และมีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว คือ ผลงานของ ผศ.ดร.ดวงใจ นาคะปรีชา และคณะวิทยาศาสตร์ เรื่องชุดเครื่องวัดคุณภาพแก๊สโซฮอล์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกที่มีเครื่องมือตรวจวัดเอทานอลในแก๊สโซฮอล์ภาคสนาม โดยเครื่องมือนี้สามารถสุ่มตรวจ ณ สถานีบริการน้ำมัน และอ่านผลได้ใน 2 นาที ไม่จำเป็นต้องใช้นักเคมี และใช้เครื่องในห้องปฏิบัติการ งานประดิษฐ์ดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทนของประเทศด้วย

สำหรับรับสาขาวิจัย ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “ระบาดวิทยาของโรคโลหิตจางอะพลาสติกในประเทศไทย” ซึ่งนับเป็นโรคเลือดที่พบมากที่สุดในไทย สิ่งใหม่ที่งานวิจัยพบนอกเหนือจากยาฆ่าแมลงนั้น พบว่า โรคโลหิตจางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความผลเกี่ยวเนื่องจากการเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่น เป็ด ห่าน รวมทั้งการดื่มน้ำไม่สะอาดด้วย

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยเรื่อง “บทบาทของโปรตีน NS1 ของไวรัสเด็งกี่ และโปรตีนคอมพลิเมนต์ต่อการรั่วของผนังหลอดเลือดในผู้ป่วยไข้เลือดออก” ของ ผศ.ดร.พญ.ปนิษฎี อวิรุทธ์นันท์ คณะศิริราชพยาบาล ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรในไทย เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาก็ได้รับรางวัลในปีการศึกษานี้ด้วย


ขณะที่ รศ.พญ. ศิริวรรณ จิรสิริธรรม ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับรางวัลดีเด่นเฉพาะทางสาขาการแต่งตำราเรื่อง “ตำราวิสัญญีวิทยาสำหรับการปลูกถ่ายไต” ถือเป็นความสำเร็จของการปลูกถ่ายอวัยวะรวมทั้งการระงับความรู้สึกสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมาแล้วและเมื่อมารับการผ่าตัดอื่นๆในภายหลัง

ด้านสาขาความเป็นครู คือ ศ.ดร.พญ. นภาธร บานชื่น ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับบทบาทของความเป็นครูอย่างดียิ่ง ที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจเพื่อนักศึกษา

สุดท้ายสาขาการบริการมี 2 คน คือ ศ.พญ. สุมาลี เกียรติบุญศรี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จากผลงานการดูแลผู้ป่วยจากการบริโภคหน่อไม้ปี๊ปที่ปนเปื้อนพิษโบทูลิซึ่มในงานบุญฉลองพรธาตุที่ จ. น่าน ซึ่งนับเป็นผลการรักษาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การรักษาโบทูลิซึ่มของโลก และ ผศ. ดร. สุนันทา วิบูลย์จันทร์ มีบทบาทในการผลักดันให้เด็กไทยหันมาเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์พื้นฐาน

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 ท่านจะเข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 15-16 ก.ค. นี้ ณ หอประชุมกองทัพเรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น