โดย...นาวาอากาศตรีหญิง แพทย์หญิง วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
เชื่อหรือไม่ว่าประเทศไทยมีการบริจาคอวัยวะที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ในปีพ.ศ.2552 มีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตเพียง 146 ราย เท่านั้น ในขณะที่ประเทศสเปน มีผู้บริจาคอวัยวะสูงกว่าประเทศไทยถึง 17 เท่าตัว จากสถิติของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนรออวัยวะอยู่ถึง 2,397 ราย จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะ กับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ด้วยสถิติการบริจาคเช่นนี้จะต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปีกว่าผู้ป่วยจะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะได้หมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนอวัยวะที่จะนำมาผ่าตัดปลูกถ่ายอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นเพราะว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ หรือ มักมีความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะจะทำให้เกิดชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบ 32 ดังนั้นการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องของการบริจาคอวัยวะ น่าจะทำให้การบริจาคอวัยวะมากขึ้น
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ อาจจะเข้าใจว่าการนำอวัยวะออกจากร่างกายทำในขณะที่ผู้บริจาคยังไม่เสียชีวิตแต่โดยความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยะ หมายถึง การผ่าตัดนำอวัยะของญาติที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิตและมีสมองตายแต่อวัยวะนั้นๆยังทำงานปกติ มาใส่ให้ผู้ป่วยเพื่อทำหน้าที่ทดแทนอวัยวะเดิมซึ่งเสียหน้าที่ไป โดยอวัยวะที่สามารถนำมาปลูกถ่ายได้ คือ ไต ตับ ตับอ่อน ปอด หัวใจ และ ดวงตา ซึ่งได้มาจาก 2 แหล่ง คือ
1. อวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอวัยวะที่สามารถบริจาคโดยวิธีนี้ได้ คือ ไต 1 ข้าง และ ตับบางส่วนเท่านั้น โดยผู้บริจาคต้องมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับผู้รับบริจาค เช่น บิดา มารดา บุตร ลุง ป้า น้า อา ฯลฯ หากมิได้เป็นญาติโดยสายโลหิตจะอนุญาตเฉพาะในกรณีที่เป็นสามี/ภรรยากันตามกฎหมายเท่านั้น
2. อวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตและมีภาวะสมองตายซึ่งหมายถึงภาวะที่สมองหยุดการทำงานอย่างถาวร ส่งผลให้ผู้นั้นอยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว และ ไม่หายใจเองซึ่งโดยธรรมชาติแล้วหัวใจก็จะหยุดเต้นผลที่สุดก็คือตาย แต่การแพทย์ปัจจุบันสามารถทำให้หัวใจเต้นต่ออย่างฝืนธรรมชาติได้อีกระยะเวลาหนึ่งจากการที่แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจให้ทำให้มีออกซิเจนผ่านเข้าปอดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายแล้วแพทย์จะขอบริจาคอวัยวะจากญาติ และให้ญาติลงนามยินยอมด้วยทุกครั้ง จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจอวัยวะว่ามีอวัยวะใดบ้างสามารถนำไปปลูกถ่ายได้จึงจะผ่าตัดนำอวัยวะออกไป ถ้าญาติไม่ยินยอมแพทย์ก็ไม่สามารถผ่าตัดนำอวัยวะออกไปปลูกถ่ายให้กับผู้รอรับอวัยวะได้ สำหรับผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้แล้ว เมื่อเสียชีวิตสมองตายก็ต้องให้ญาติลงนามยินยอมเช่นกัน ซึ่งบ่อยครั้งมากที่แพทย์ไม่สามารถผ่าตัดนำอวัยวะจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เพราะญาติปฏิเสธที่จะบริจาคอวัยวะด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การไม่แน่ใจเรื่องสมองตาย กลัวว่าผู้เสียชีวิตจะเจ็บ หรือไม่ทราบเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิต ฯลฯ ดังนั้นหากท่านได้ทำบัตรบริจาคอวัยวะไว้แล้วควรแจ้งให้บุคคลใกล้ชิดทราบ จะทำให้ญาติปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของท่านได้เมื่อท่านเสียชีวิตและมีภาวะสมองตาย ซึ่งจะทำให้ได้รับบริจาคอวัยวะมากขึ้นกว่านี้
ส่วนความเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะจะทำให้เกิดชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบ 32 หรือ กลัวชาติหน้าจะเกิดมากลายเป็นคนพิการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้ตอบคำถามเรื่องการบริจาคดวงตาจะทำให้ตาบอดหรือตาจะโบ๋ ตอนเกิดใหม่หรือไม่ท่านตอบว่า “ตาจะแจ่มใสดีกว่าตาเดิม เพราะอานิสงส์อุทิศลูกตาเป็นทาน และ ตาจะไม่โบ๋ เพราะไปเกิดใหม่ ไม่ได้เอาตาดวงเก่าไปด้วยกายเก่าไม่ได้ไป เกิดใหม่ก็อาศัยบุญใหม่…”
นอกจากนี้ พระพิศาลธรรมพาที (พระพยอม กัลยาโณ) วัดสวนแก้วได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า“…ตามหลักศาสนานั้น ให้สิ่งใด ย่อมได้รับสิ่งดีมากอีกร้อยเท่าพันเท่า อย่าเชื่อว่า ถ้าบริจาคดวงตา จะทำให้ตาพิการ ถ้าให้แล้วจะมีผลออกมาเป็นความสมบูรณ์ ยิ่งให้ส่วนใด ของตนไป ความสมบูรณ์ จะมาเกิด ตรงกันข้าม กับคนที่หลอกว่าให้ตาแล้ว จะไม่มีดวงตา ให้อวัยวะไปแล้ว จะพิการส่วนนั้นพิการส่วนนี้ เป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ถูก..” จากเหตุผลดังกล่าวจะเห็นว่าความเชื่อที่ว่าถ้าบริจาคอวัยวะชาติหน้าจะเกิดมามีอวัยวะไม่ครบเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต)ยังได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการบริจาคอวัยวะไว้ว่า “…การบริจาคอวัยวะเป็นบุญชั้นสูงถึงขั้นเรียกว่าบารมีเลยทีเดียว เป็นบุญที่ทำได้ยาก ต้องมีความเสียสละจริงๆ เป็นอันว่าได้บุญแน่นอน เพราะเกิดจากเจตนาที่เสียสละให้ด้วยความกรุณาปราถนาดีต่อผู้อื่นอันใหญ่หลวง…เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จำเป็นต้องบำเพ็ญมหาบริจาค ซึ่งมีการบริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคชีวิตรวมอยู่..”
ในประเทศไทยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะที่ทำมากที่สุด การรักษาผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 3 วิธีคือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต สำหรับสองวิธีนี้แรกนั้นผู้ป่วยไม่มีโอกาสหยุดการรักษาได นอกจากนี้ การดื่มน้ำ การกินอาหาร การดำเนินชีวิต และการทำงานของผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องถูกจำกัดลงอย่างมากการผ่าตัดปลูกถ่ายไตทำโดยการนำไตที่ยังทำงานดีของผู้อื่น มาปลูกถ่ายใส่ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อให้ไตใหม่ที่ยังทำงานดี ได้ทำงานขจัดของเสียแทนไตเดิมที่เสียไป ถ้าไตทำงานได้ดี จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วสามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เช่นคนปกติ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวดีกว่าการรักษาด้วยสองวิธีแรก อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษายังต่ำกว่าด้วยผลที่ได้คุ้มค่ามากเปรียบได้กับการชุบชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดังนั้นการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจึงเป็นวิธีการบำบัดทนแทนทางไตอีกทางหนึ่งที่ดีสุดในปัจจุบัน โดยไตบริจาคสำหรับการปลูกถ่ายมี 2 แบบคือ ไตบริจาคจากญาติดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และไตบริจาคจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งกรณีที่รอรับไตจากผู้บริจาคสมองตาย ผู้ป่วยมักต้องเข้าคิวรอรับการปลูกถ่ายไตเป็นเวลานาน เนื่องจากสัดส่วนของผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะ กับผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมีความแตกต่างกันอย่างมาก
การบริจาคอวัยวะไม่เพียงแต่จะมีอานิสงส์ทางธรรมสูงแล้วยังได้สิทธิประโยชน์มากมายดังนี้ สภากาชาดไทยจะขอพระราชทานเพลิงศพเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริจาคอวัยวะ จะมอบสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทยแก่ทายาทผู้บริจาค จำนวน 1 คน โดยจะได้รับการลดหย่อนค่าห้อง ค่าบริการ ร้อยละ 20 เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สถานพยาบาลในสังกัดสภากาชาดไทย หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
ทายาทที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาด เพื่อลดเวลาการรอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะของผู้ป่วย จึงใคร่ขอให้ทุกท่านร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นการทำบุญครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยขอเชิญชวนชาวไทยอายุไม่เกิน 60 ปีมาบริจาคไตให้ถึง 840 ไต (รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ) ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในงานนิทรรศการวันไตโลก วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2554 เวลา 06.00-18.00 ณ. บริเวณหอนาฬิกา สวนจตุจักร ซึ่งทางสภากาชาดไทยได้มารับการบริจาคและสามารถออกบัตรประจำตัวผู้บริจาคอวัยวะได้เลย เพียงท่านมาแจ้งความจำนงพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน และเชิญร่วมการเสวนาเรื่องการบริจาคไตโดยพระศรีคัมภีรญาณ สภากาชาดไทย และ คุณแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ซึ่งท่านจะได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องของการบริจาคอวัยวะ นอกจากนี้ ขอเชิญชวนท่านร่วมเดินเทิดพระเกียรติโดยใส่เสื้อสีชมพูในช่วงเช้ารับการตรวจสุขภาพด้านโรคไต และร่วมสนุกกับกิจกรรมบันเทิงอีกมากมายจากคุณคิมเบอร์ลี่ จากละครธาราหิมาลัย, คุณบีม D2B คุณ ป้อม ออโตบาห์น รวมถึง ศิลปิน บอส เกรป AF7 สอบถามเพิ่มเติมที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย โทร 02-7166091หรือ 0-2716-7450