xs
xsm
sm
md
lg

รพ.รามาฯจับมือ สปสช.ขยายศักยภาพศูนย์ปลูกถ่ายไตเพิ่มผ่าตัดเปลี่ยนไตช่วยผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.รามาธิบดี ร่วมมือกับ สปสช.ขยายศักยภาพศูนย์ความเป็นเลิศปลูกถ่ายไต เพิ่มบริการผ่าตัด-เปลี่ยนไต แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี เพิ่มผู้ป่วยร้อยละ 50 เพื่อรองรับผู้ป่วยไตวายระบบบัตรทอง

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการ “ Excellence Center for Kidney Transplantation หรือ โครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายไต” ตั้งเป้าหมายขยายการผ่าตัดเปลี่ยนไต และสร้างเครือข่าย รพ.รับบริจาคอวัยวะ เพื่อรองรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายของสปสช.เพิ่มมากขึ้นภายใน 3 ปี
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า โครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายไตของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ตั้งขึ้นมานั้นจะมีบทบาทและภาระหน้าที่ในการพัฒนาการให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการปลูกถ่ายไต ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีจะเพิ่มผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไตได้อีกร้อยละ 50 โดย จำนวนนี้ให้เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งการดำเนินการนั้นจะมีการพัฒนาระบบการผ่าตัดเปลี่ยนไต และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายโรงพยาบาลรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วย อุบัติเหตุและมีภาวะสมองตาย กระตุ้นให้เกิดระบบการขอรับบริจาคอวัยวะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างและพัฒนาระบบรับส่งต่อผู้ป่วยไตวายของ สปสช.มารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ศูนย์ดังกล่าวยังมีการจัดทำกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ญาติสายเลือดตรงของผู้ป่วยไตวาย เพื่อเพิ่มการตัดสินใจบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ สร้างระบบและกิจกรรมดูแลสุขภาพของผู้บริจาคไตที่มีชีวิต สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายไตในรูปแบบเป็นชมรมจิตอาสา สนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไต สร้างเครือข่ายโรงพยาบาลผู้รับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย โดยการเพิ่มและพัฒนาศักยภาพในการวินิจฉัยผู้ป่วยสมองตาย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการของการขอรับบริจาคอวัยวะระหว่าง รพ.ในเครือข่าย

ศ.นพ.โสภณ จิรสิริธรรม ประธานโครงการเปลี่ยนไต รพ.รามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า รพ.รามาธิบดี ได้เริ่มบริการผ่าตัดเปลี่ยนไตให้คนไข้ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาร่วม 24 ปีแล้ว โดยมีสถิติการผ่าตัดเปลี่ยนไตมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มาร่วม 20 ปี เฉลี่ยเปลี่ยนไตปีละ 70-90 ราย และในปี พ.ศ.2553 ได้ทำสถิติเปลี่ยนไตมากถึง 106 ราย โดยมีผลสำเร็จถึงร้อยละ 99.5 ความสำเร็จนี้เกิดจากนโยบายของคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ที่เน้นเพิ่มการรณรงค์ให้มีผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย โดยท่านคณบดีได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการบริจาคอวัยวะ ขึ้นและประสบความสำเร็จด้วยการเริ่มมีผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย สามารถนำอวัยวะจากผู้บริจาคไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยในการปลูกถ่าย ทั้งตับและไต ถือเป็นการบริจาคที่เป็นกุศลอย่างยิ่ง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บทบาทของ สปสช.ในโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายไต จะสนับสนุนการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีสิทธิบัตรทองให้สามารถเข้าถึงการผ่าตัดเปลี่ยนไตใน รพ.รามาธิบดี ได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และค่าใช้จ่ายทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไตของผู้ป่วย สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด “โครงการ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะและการผ่าตัด เปลี่ยนไตของประเทศไทยให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ มีอัตราการบริจาคไตน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนไต ดังนั้น การที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จะเป็นศูนย์กลางผ่าตัดเปลี่ยนไตให้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และมีเศรษฐสถานะไม่ดีนัก ถือเป็นภารกิจที่สำคัญและน่ายกย่องอย่างยิ่ง

นายสุบิน นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ รพ.รามาธิบดี และ สปสช.มีโครงการขยายศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายไต เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีมาก เพราะจะทำให้ผู้ป่วยไตวายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความหวังที่จะมีชีวิตเหมือนคนปกติ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการผ่าตัดเปลี่ยนไตค่อนข้างน้อย เพราะมีการบริจาคอวัยวะน้อยมาก

“ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณ รพ.รามาธิบดี ที่มีโครงการขยายการผ่าตัดเปลี่ยนไตให้กับผู้ป่วยบัตรทอง และสร้างเครือข่าย รพ.รับบริจาคอวัยวะ และหวังว่าสถาบันการแพทย์อื่นๆ จะมีโครงการดีๆ แบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าว

ข้อมูลของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มาขึ้นทะเบียนรับการรักษาทดแทนไตจำนวนมากกว่า 30,000 ราย แต่มีผู้ป่วยที่โชคดีได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตจริงเพียงปีละ 200-300 ราย เท่านั้น ซึ่งความไม่สมดุลตรงนี้ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณปีละหลายพันล้านบาท เพื่อจัดระบบบริการทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดและล้างไตทางช่องท้องไปก่อนเพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วย ก่อนที่จะสามารถหาผู้บริจาคและผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น