สธ.จับมือ สปสช.สภากาชาดไทย สมาคมโรคไตฯ มูลนิธิโรคไตฯ สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ และแพทยสภา เร่งจัดระบบบริจาคอวัยวะ-ปลูกถ่ายไต ตั้งเป้าให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปขนาดมากกว่า 500 เตียง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะ ชี้ปลูกถ่ายไตเป็นแนวทางรักษาดีที่สุด แต่พบว่า คนไทยบริจาคน้อยเพียง 80 ราย/ปี น้อยกว่าสถิติที่ควรมี 1,000 ราย/ปี
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่โรงแรมอมารี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุม “แนวทางการพัฒนาระบบบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายไตในหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องในวันไตโลก ประจำปี 2553” และมอบนโยบายการพัฒนาระบบรับบริจาคอวัยวะเพื่อต่อชีวิตผู้อื่น ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์ พยาบาลผู้ทำหน้าที่ประสานงานการรับอวัยวะจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นวันไตโลก ตรงกับวันพฤหัสที่ 11 มีนาคม 2553 คำขวัญของวันไตโลกปีนี้คือ “ไตดีมีสุข” เนื่องจากโรคไต เป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วจะส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานจากอาการของโรค ทั้งเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน การรักษาโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดคือด้วยวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือการปลูกถ่ายไต ปัจจุบันพบว่าการบริจาคอวัยวะในแต่ละปีของประเทศไทยมีจำนวนน้อยมากเพียงปีละ 80 ราย ซึ่งโดยสถิติความต้องการอวัยวะเพื่อผ่าตัดช่วยชีวิต ควรที่จะมีการบริจาคอวัยวะให้ได้ประมาณ 1,000 รายต่อปี ดังนั้นควรที่จะช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นเชิญชวนให้มีการบริจาคอวัยวะเพิ่มมากขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในระยะแรก ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งและโรงพยาบาลทั่วไปที่มีขนาดมากกว่า 500 เตียง ที่มีความพร้อมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลรับบริจาคอวัยวะ ซึ่งโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายจะต้องพัฒนาระบบรับบริจาคอวัยวะ สร้างทีมแพทย์และบุคลากร ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานการรับบริจาคอวัยวะและกำหนดผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักเห็นความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ และส่งเสริมให้มีการบริจาคอวัยวะเพิ่มมากขึ้น
“ปัจจุบันการบริจาคอวัยวะในประเทศไทยนั้น ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่ประสานงานให้มีการบริจาคอวัยวะ นำอวัยวะของผู้บริจาคไปปลูกถ่ายยังผู้รอรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนตามลำดับ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะได้ร่วมกับสภากาชาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระบบการดำเนินงานทั้งสถานที่วิธีการที่ประชาชนจะยื่นความประสงค์ที่จะบริจาค รวมทั้งระบบการขึ้นทะเบียน ผู้รอรับบริจาค”นายจุรินทร์ กล่าว
นพ.ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินงานการพัฒนาระบบบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายไตจะดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและแพทยสภา ที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนและส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เป้าหมายการดำเนินกิจกรรม ตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน ตลอดจนการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการร่วมกัน โดยกำหนดให้มีแผนการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เพื่อบรรลุต่อเป้าหมายที่กำหนด
“ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือ ร่วมใจ ที่จะช่วยกันทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ว่ารพ.ศูนย์ทุกแห่งและรพ.ทั่วไปที่เข้าร่วมโครงการฯ จะพัฒนาระบบบริจาคอวัยวะได้ไม่ต่ำกว่า 10 ราย/แห่ง ซึ่งการดำเนินดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการบริจาคอวัยวะใกล้เคียงสถิติต่อจำนวนประชาชนซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”นพ.ทนงสรรค์ กล่าว
ทั้งนี้ สามารถหากท่านใดมีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะแจ้งความประสงค์ได้ที่ รพ.ทุกแห่งทั่วประเทศได้ตลอดเวลา