xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง ไทยพบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสะสม 3 หมื่นราย ชี้ค่าใช้จ่ายอาจสูงหมื่น ล.ต่อปี!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟอกไต (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
พบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสะสม 3 หมื่นราย ค่ารักษาเฉลี่ยรวม 2.5 แสนต่อคนต่อปี ชี้ หากไม่เร่งรณรงค์ลดจำนวนผู้ป่วยลงไทยอาจเสียค่าใช้จ่ายพุ่งหมื่นล้านบาท สมาคมโรคไตชวนบริจาคไต ถวายพระราชกุศล 84 พรรษา แด่ในหลวง หลังพบคนไทยบริจาคแค่ 1 ในล้านคน

ศ.นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์โรคไต กล่าวว่า จากปัจจุบันที่คนไทยกำลังพบกับปัญหาสุขภาพเรื่องโรคไตวาย ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาโดยวิธีฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวสะสมตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 30,000 คน แต่ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหากไม่มีการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้วิธีป้องกันโรคไตอย่างเหมาะสม อาจจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็น 40,000-50,000 คนได้ ซึ่งในปี 2554 นี้ รัฐบาลได้มีการสำรองงบประมาณสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคไตราว 4,500 ล้านบาท และคาดว่า หากมีผู้ป่วยสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลา 5-10 ปี อาจพุ่งถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี

“จำนวนผู้ป่วยโรคไตของประเทศขณะนี้คิดเป็นอัตราส่วนราว 100 คนต่อล้านประชากร แม้จะไม่มากเมื่อเทียบตามอัตราส่วนของปะเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวันและเกาหลีพบถึง 250 คนต่อล้านประชากร ซึ่งผู้ป่วยในประเทศเหล่านี้มีจำนวนที่เป็นไตวายเรื้อรังรอฟอกไตและเปลี่ยนถ่ายไตราว 50,000 คน แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ คนไทยหันไปบริโภคแบบตะวันตกและกินอาหารขยะกันมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดภาวะอ้วน ความดันสูงอันเป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะไตเสื่อมง่ายขึ้น” ศ.นพ.ดุสิต กล่าว

ผศ.นพ.สุรศักดิ์. กันตชูเวสศิริ ประธานอนุกรรมการป้องกันโรคไต กล่าวว่า ในการรักษาภาวะไตวายแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยหากได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างช่องท้องชนิดถาวร หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต จากญาติและผู้บริจาค รวมทั้งรับยาในการรักษาอาการหลังผ่าตัด คิดเป็นค่าใช้จ่ายรวมราว 250,000 บาท ต่อคนต่อปี เนื่องในวันวันไตโลก( World Kidney Day) ที่ตรงกับวันที่ 10 มี.ค.54 นี้ ทางสมาคมโรคไตฯ ได้จัดกิจกรรมการป้องกันโรคไตแก่ประชาชน และสร้างทัศนคติที่ดีในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต ด้วยการบริจาคไตในผู้ป่วยอุบัติเหตุสมองตายให้ได้ 840 คนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยเปิดกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกขึ้นระหว่างวันที่ 6-13 มี.ค 54 ณ สวนจตุจักร กทม.

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่เราต้องรณรงค์ให้มีการบริจาคไตมากขึ้น เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายมีการซื้อขายไตในต่างประเทศ ซึ่งผิดกฎหมาย และสำหรับสถานการณ์ที่น่าห่วง คือ คนไทยบริจาคอวัยวะกันน้อย โดยในส่วนของไตที่ได้รับบริจาคนั้นพบว่าปี 2553 มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องปลูกถ่ายไตจำนวนทั้งสิ้น 3,000 คน แต่มีเพียง 300 คนเท่านั้น ที่ได้รับบริจาคไตจากผู้มีจิตกุศลจำนวน 80 คน ในจำนวนการบริจาคทั้งหมดนี้แบ่งเป็นการบริจาคจากญาติของผู้ป่วยเอง 50 เปอร์เซ็นต์ และผู้บริจาคทั่วไปที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เช่น จากอบัติเหตุอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนการบริจาคแค่ 1 คนต่อล้านประชากรเท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศ เช่น สเปน มียอดบริจาค 50 คนต่อล้านประชากร และสหรัฐอเมริกา มีผู้บริจาค 10 คนต่อล้านประชากร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับทัศนคติของคนไทยให้มีจิตศรัทธาด้านนี้มากขึ้น

ด้าน พญ.ธนันดา ตะการวนิช อนุกรรมการป้องกันโรคไต กล่าวว่า สำหรับการป้องกันโรคไตที่ดีที่สุด คือ ทานอาหารที่รสชาติกลางๆ ไม่มีรสจัด หลีกเลี่ยง ยาแก้ปวดที่เป็นพิษต่อไต พยายามดื่มน้ำมากๆ และอย่ากลั้นปัสสาวะนาน ๆ หลีกเลี่ยงอาหารขยะ เพราะหากกินมากๆ จะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นไตวายง่ายกว่าคนปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น