xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยคนไทยป่วยไตวายระยะสุดท้ายกว่า 30,000 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เผยคนไทยป่วยไตวายระยะสุดท้ายกว่า 30,000 ราย เหตุจากเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง เร่งรณรงค์ให้ความรู้ ลดผู้ป่วยรายใหม่ พร้อมรับบริจาค 840 ไต ถวายในหลวง แจ้งได้ที่ รพ.ในสังกัดทั่วประเทศ

กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไต ให้ลดกินเค็มครึ่งหนึ่ง ในโรงพยาบาลในสังกัด 900 แห่งทั่วประเทศ เนื่องในวันไตโลก เริ่ม 6-12 มีนาคม 2554 เผย ขณะนี้มีคนไทยป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 30,000 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง พร้อมเปิดรับบริจาคไต 840 ไต เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนให้ผู้ที่มีปัญหาไตวาย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
         
นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องในวันไตโลกปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันไตโลก(World kidney day) ในโรงพยาบาลสังกัดทั่วประเทศจำนวน 900 แห่ง ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารรสเค็ม  

นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ประการสำคัญ ในช่วงจัดกิจกรรมในปีนี้ จะรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคไตให้ได้ 840 ไต เพื่อนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้มีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554  ประชาชนที่มีความประสงค์บริจาค สามารถแจ้งได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ  

“ปัจจุบันโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก จากสถิติของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยปี 2551 พบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 31,496 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละ 400 ราย ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตวาย มี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง เช่น ติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก เป็นนิ่วในไต หรือไตพิการเป็นถุงน้ำ 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ และโรคเอสแอลอี 3.การกินยาบางชนิด เช่น ยาเฟนาติซิน เฟนิลบิวตาโซน และ 4.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากไตเสื่อมตามอายุขัย” นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าว

แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไตวายเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ประมาณร้อยละ 80 ก็คือโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้ง 2 โรค ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบแข็ง ทำให้ไตเสื่อม ไม่สามารถกรองของเสียออกจากร่างกายได้ โดยผลการคัดกรองโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงในปี 2552 พบมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1.4 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัญหาไตวาย 20,000 คน พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2 ล้านคน และมีปัญหาไตวาย 18,000 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยกินหวานถึงวันละ 20 ช้อนชาต่อวัน ไขมัน 12 ช้อนชาต่อวัน และเกลือ 2 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ คือ วันละ 6 กรัม หรือ 1 ช้อนชา แนะนำให้ลดลงเหลือ 6:6:1 คือ กินน้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน กินไขมัน 6 ช้อนชาต่อวันและเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้ผลที่สุดต้องใช้วิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่ปัญหาที่ประสบทั่วโลก คือ การขาดแคลนผู้บริจาคไต  ซึ่งแต่ละปีมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตปีละประมาณ 300 รายเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงต้องใช้วิธีการรักษาชะลอการเสื่อมไต โดยใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และฟอกของเสียออกทางน้ำยาผ่านทางช่องท้อง เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500-2,000 บาทต่อคน รวมค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากไม่เร่งแก้ไขป้องกันจะทำให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ และค่าใช้จ่ายการรักษาจะเพิ่มขึ้น

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุพัฒน์ วานิชยการ เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันไตโลก ว่า ในปีนี้ประเทศไทยจัดกิจกรรมวันไตโลก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6-12 มีนาคม 2554 และในวันที่ 6 มีนาคม 2554 จะมีการจัดงานใหญ่ที่บริเวณหอนาฬิกา สวนสาธารณสาธารณะสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ในเวลา 06.00-17.00 น.ภายใต้แนวคิด “ลดเค็มครึ่งหนึ่งไม่ต้องพึ่งไตเทียม” กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเดิน-วิ่งเทิดพระเกียรติ การบรรยายเกี่ยวกับโรคไต นิทรรศการให้ความรู้ประชาชน เน้นการปรับพฤติกรรมการกินให้ลดเค็มครึ่งหนึ่ง ซุ้มอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไต การตรวจคัดกรองโรคไต ซุ้มรับบริจาคอวัยวะ และการแสดงบนเวทีจากศิลปิน เช่น ป้อม ออโตบาห์น, บีม ดีทูบี, แพนเค้ก เขมนิจ,  คิมเบอร์ลี่ จากละครธาราหิมาลัย และ บัว สโรชา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น