xs
xsm
sm
md
lg

มหากุศล...ต่อชีวิต “บริจาคไต” ทำบุญครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พญ.ธนันดา ตระการวนิช
โดยคุณวัตร ไพรภัทรกุล

“โรคไต” ภัยเงียบที่น่ากลัวและใกล้ตัวที่สุด เพราะจากข้อมูลปี 2551 คนไทยกว่า 17 ล้านคน หรือประมาณ 16% ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ป่วยเป็น “โรคไตวายเรื้อรัง” ประกอบกับชีวิตประจำวันของคนเมืองที่ต้องเคร่งเครียดมากขึ้น พักผ่อนน้อยลง กินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษเป็นกิจวัตร จึงไม่แปลกที่ตัวเลขผู้ป่วยโรคไตมีแต่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่ป้องกัน ก็อาจสายเกินแก้ เพราะผู้ป่วยบางราย ไตวายไปแล้วข้างหนึ่งก็อาจยังไม่แสดงอาการ

พญ.ธนันดา ตระการวนิช หัวหน้าหน่วยไต โรงพยาบาลวชิระ หรือ วชิรพยาบาล กล่าวว่า การจัดงานวันไตโลกในปีนี้ ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม จะมีการเน้นรณรงค์ให้มีการบริจาคไตมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งประเทศกว่า 31,490 ราย และในจำนวนนี้มีประมาณ 3,000 ราย ที่แจ้งความจำนงเพื่อขอเปลี่ยนถ่ายไต ซึ่งจำนวนการเปลี่ยนถ่ายไตที่ผ่านมาอยู่ที่ 300-400 คนต่อปี หรือเพียง 10% ของผู้แจ้งความจำนง

ในประเทศไทยการบริจาคไตข้างหนึ่ง ตามกฎหมายกำหนดให้มีการบริจาคได้เพียงแค่ญาติ หรือสามี-ภรรยาเท่านั้น เพื่อป้องกันการค้าอวัยวะ แต่ในต่างประเทศสามารถบริจาคให้กับเพื่อนได้ แต่จะมีผู้ที่จะตรวจสอบเพื่อป้องกันการแอบอ้างเพื่อค้าอวัยวะ ซึ่งการบริจาคระหว่างญาติหรือสามี-ภรรยา ก็มีข้อจำกัด อย่างเช่น ผู้รอรับการบริจาคไตถ้ามีเลือดกรุ๊ปโอ ต้องได้ไตจากผู้ให้ที่เป็นกรุ๊ปโอเหมือนกัน เป็นกรุ๊ปอื่นไม่ได้ ซึ่งหากญาติหรือสามี-ภรรยามีเลือดกรุ๊ปอื่นก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับการบริจาคได้” พญ.ธนันดา กล่าว

พญ.ธนันดา กล่าวอีกว่า ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กินยาเป็นประจำ มีพันธุกรรมที่เป็นโรคไต เป็นโรคความดัน เบาหวาน เก๊า ควรจะดูแลตัวเองเป็นพิเศษ โดยในงานนี้จะมีการตรวจโรคไตฟรี ด้วยการเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปในการจัดงานทุกครั้ง จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจหรือแนะนำผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงมาร่วมงานในครั้งนี้เพื่อรับความรู้และวิธีป้องกันโรคไตอย่างถูกต้อง
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันโรคไตเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรารณรงค์คนไข้ที่สมองตายให้เป็นผู้บริจาคไต เพราะตามกฎหมายคนไข้สมองตายถือว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ต้องได้รับความยินยอมจากญาติก่อน ซึ่งก่อนการบริจาคจะมีแพทย์ 3 ท่านเป็นผู้วินิจฉัยคนไข้ ดังนี้ คือ 1.ม่านตาไม่ตอบสนอง 2.ไม่มีการกรอกตา 3.ไม่สามารถหายใจได้เอง เมื่อนำเครื่องช่วยหายใจออก โดยหลังจากนั้นหากไม่ได้รับการยินยอมจากญาติ คนไข้ก็จะเสียชีวิตภายใน 48-72 ชั่วโมง การรับการบริจาคนั้นจึงต้องได้รับการยินยอมจากญาติก่อนที่คนไข้สมองตายจะเสียชีวิต เพราะถ้าเสียชีวิตแล้วอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจจะหยุดทำงานภายใน 30 นาที ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือคนไข้ที่รอรับการบริจาคอวัยวะได้ทัน

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากญาติยินยอมให้มีการบริจาคอวัยวะแล้ว อวัยวะจะถูกส่งไปที่สภากาชาดไทย โดยที่โรงพยาบาลไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่สามารถนำอวัยวะไปเปลี่ยนให้กับคนไข้ในโรงพยาบาลของตนได้ จึงอยากรณรงค์ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาทำบัตรเพื่อแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะในงานวันไตโลกที่จะจัดขึ้นนี้ด้วย ซึ่งการทำบัตรจะไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะอย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ทำบัตรเกิดอุบัติเหตุสมองตาย ญาติก็จะต้องเป็นผู้เซ็นยินยอมในการบริจาคอวัยวะ แม้ว่าผู้ป่วยจะทำบัตรแสดงความจำนงไว้แล้วก็ตาม แต่ข้อดีของการทำบัตรจะช่วยให้ญาติสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้นในการบริจาค เพราะต้องการทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย

ถ้าเราทราบว่า คนไข้จะเสียชีวิตแน่ แต่อวัยวะต่างๆ ยังสามารถบริจาคเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นได้ เป็นการทำบุญครั้งสุดท้าย ก่อนที่คนที่เรารักจะเสียชีวิต ดีกว่าเอาอวัยวะไปทิ้ง เพราะเวลาไปไปแต่จิต ร่างกายไม่ได้เอาไปด้วย ส่วนอวัยวะต่างๆ ของคนๆ เดียวเช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต ดวงตา สามารถช่วยต่อชีวิตผู้อื่นได้อีกถึง 6-7 ชีวิต เป็นการทำกุศลที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการต่อชีวิตให้กับผู้อื่น” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ งานวันไตโลก จะจัดใน วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2555 ตั้งแต่ 10.00-18.00 น.ที่ รามาฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดติดต่อ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย 02-7166091 หรือ www.nephrothai.org
กำลังโหลดความคิดเห็น