...จารยา บุญมาก
ยามป่วยไข้ชาวบ้านธรรมดาที่มีรายได้ไม่กี่ร้อยบาทต่อวัน เมื่อต้องเข้ารักษาพยาบาลหลายหมื่นหลายแสน โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและรักษาตัว ย่อมเป็นเรื่องที่ลำบากและยากต่อการตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อตามยถากรรมหรือตายแล้วจบปัญหา
แต่สำหรับ “ประทีป วัชพงษ์พี” หนุ่มใหญ่วัย 34 ปี ชาวบ้าน ต.โคกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา อาชีพทำสวนและทำประมง ซึ่งป่วยด้วยโรคไตโดยไม่ทราบสาเหตุ โชคยังดีที่เหลือทางเลือก เพราะความตายไม่ใช่จุดจบของคนจนเสมอไป
ประทีป ได้รับการบริจาคไต จาก “สุรชัย วัชพงษ์พี” พี่ชายสายเลือดเดียวกัน นอกจากนี้ สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ยังมีส่วนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย ซึ่ง ประทีป ยอมรับว่า หลังจากเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในปี 2552 ที่ รพ.สุราษฎร์ธานี แล้วชีวิตของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และไม่ต้องกลายเป็นภาระของลูกกับภรรยา
“ครั้งแรกไม่คิดจะรบกวนใคร และไม่ได้ต้องการการบริจาคไตจกใครเลย เพราะรู้สึกว่าการล้างไตสัปดาห์ละสองครั้งก็น่าจะมากพอแล้ว และหากไม่หายต้องรักษาต่อไปเรื่อยๆ ก็ยอมตายดีกว่าหมดเงินมหาศาล แต่พี่ชายก็ให้กำลังใจดีและบอกว่าหากเปลี่ยนไตก็จะสามารถช่วยกันทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ ดังนั้น ควรที่ทำ และดีใจมากทีวันนี้สามารถช่วยพี่ชายออกหาปลาเพื่อสร้างรายได้แก่ครอบครัว” ประทีปเล่า
แม้โรคไตจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็ถือเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนใน จ.สุราษฎร์ธานี อย่างมาก โดยมีผู้ป่วยไตพุ่งสูงในปี 2554 จำนวน 1,460 ราย จากประชากรราว 1 ล้าน 8 พันคน ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังกลุ่มดังกล่าวต่อบำบัดรักษาด้วยการล้างไตผ่านช่องท้อง 369 ราย และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 306 ราย ผ่าตัดเปลี่ยนไตแล้ว 6 ราย ส่วนมากจะมีฐานะยากจน ซึ่งประทีปเป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดได้สำเร็จ อยู่ระหว่างรอรับไตจากการบริจาค 26 ราย และมีแผนจะผ่าตัดในเร็วๆ นี้อีก 5 ราย
พญ.ธาริณี พัฒน์พิริยกุล แพทย์อายุรกรรมโรคไต รพ.สุราษฎร์ฯ อธิบายเพิ่มว่า ทาง รพ.มีหน่วยไต คอยบริการอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านช่องท้อง และการรณรงค์ให้ผู้ป่วยไตสามารถใช้เครื่องล้างไตได้เองที่บ้าน โดยให้บุคลากรจาก รพ.ฝึกวิธีการใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการบำบัดรักษาทดแทนไตที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและอายุยืนขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคไตเรื้อรัง ยิ่งล้างไตติดต่อนานขึ้นเป็นหลายสิบปี ผู้ป่วยจะเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนจากของเสียที่ขจัดไม่หมดตามมา ได้แก่ ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะติดเชื้อ ภาวะซีด ภาวะน้ำเกิน การต้องเตรียมผู้ดูแล และผู้ป่วยเองก็อาจเกิดความตึงเครียด ดังนั้นแพทย์ในปัจจุบันจึงแนะนำวิธีการบำบัดด้วย การผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งช่วยทดแทนการสูญเสียได้ดีและเหมือนกับการให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วย ซึ่งหากมีการดูแลสุขภาพที่ดีก็จะช่วยให้แข็งแรงสามารถทำภารกิจประจำวันได้ปกติ
“ส่วนมากการติดเชื้อจะเกิดกับผู้ป่วยที่ล้างไตเองที่บ้าน ซึ่งปี 2552 พบอัตราการติดเชื้อมากถึง 28% เป็นเพราะผู้ป่วยรู้ไม่ถึงการณ์และมักใช้น้ำสกปรกในการผสมน้ำยา หรือทำความสะอาดร่างกายไม่ดีพอซึ่งภายหลังทางโรงพยาบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สำหรับผู้ป่วยซึ่งไม่สามารถดูแลตัวเองได้ก็ต้องเข้ารับการฟอกไต ล้างไตที่โรงพยาบาล โดยภายหลังพบว่า สามารถลดอัตราการติดเชื้อได้น้อยลง ขณะที่อัตราการตายจากโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งยังไม่สามารถหาไตมาเปลี่ยนทดแทนได้ ก็อยู่ที่ราว 16-20% ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ปัญหาขาดแคลนไตยังคงเป็นปัญหาหลักเช่นกัน แต่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสภากาชาดอย่างต่อเนื่อง” พญ.ธาริณี กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับโครงการปลูกถ่ายไตใน รพ.สุราษฎร์ฯ นั้น นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.เสริมว่า เป็นการดำเนินการระดับภูมิภาคที่สามารถเป็นต้นแบบของระบบตามนโยบายของ สปสช.เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการทดแทนไต เพื่อรองรับผู้ป่วยไตระยะสุดท้ายที่ดำเนินการกระจายทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยบริการล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 11 แห่ง และจะพัฒนาบุคลากรตลอดจนหน่วยบริการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับผู้ป่วยโรคไตที่มีจำนวน 18,200 คน