xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมเพื่อนโรคไตร้องบัตรทองให้สิทธิฟอกเลือดไม่เท่าเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชมรมเพื่อนโรคไต ร้องบัตรทองให้สิทธิฟอกเลือดไม่เท่าเทียม ระหว่างผู้ป่วยก่อนและหลังวันที่ 1 ต.ค.51 เข้าฟ้องศาลปกครองพิจารณายกเลิกข้อบังคับ ด้าน สปสช.แจงเป็นการออกแบบระบบเพื่อกระจายการบริการ เหตุบุคลากรฟอกเลือดไม่เพียงพอ ยันล้างผ่านช่องท้องดีเทียบเท่าฟอกเลือด ขณะที่ผู้ป่วยไตประกันสังคมร้อง สปส.ไม่เพิ่มสิทธิตามที่ประกาศ พร้อมเคลื่อนไหวจากนี้ 1 เดือน หากไม่เร่งดำเนินการ

วานนี้ (18 พ.ค.)  ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  นายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไต   และ นายนพดล พูลเจริญ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง แถลงข่าวปัญหาสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยโรคไต และไตวายเรื้อรัง โดย น.ส.สารี กล่าวว่า   ขณะนี้ปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยโรคไต พบได้ทั้งระบบประกันสังคมและระบบหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะประกันสังคมดูจะเป็นปัญหาหนัก เนื่องจากเมื่อช่วงที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาประกาศชัดว่าจะมีการเพิ่มสิทธิในเรื่องของการปลูกถ่ายไต ให้ยากดภูมิแก่ผู้ป่วย แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการเพิ่มสิทธิดังกล่าว โดยขณะนี้ระบบบัตรทองก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากมีการเก็บเงินผู้ป่วยไตที่ต้องฟอกเลือดไม่เท่ากันทุกคน ทำให้เกิดกรณีการฟ้องร้องขึ้น เรื่องนี้จึงอยากฝากให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาด้วย

 
นายนพดล กล่าวว่า ตนเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังสิทธิบัตรทอง เริ่มฟอกไตครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 โดยต้องจ่ายเงินค่าฟอกเองทั้งหมด 1,300 บาทต่อครั้ง  ขณะที่ผู้ป่วยอื่นจ่ายแค่ 500 บาท ซึ่งไม่เท่าเทียมกัน จึงไม่เข้าใจและสอบถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คำตอบ ทราบเพียงว่าต้องแบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้ป่วยใหม่ และผู้ป่วยเก่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมจึงได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อ ให้พิจารณาข้อบังคับของ สปสช.ที่ระบุว่า ผู้ป่วยเก่าก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 การฟอกเลือดจะต้องจ่ายเงินค่าฟอกคนละ 500 บาท โดยสปสช.จะช่วยส่วนหนึ่ง แต่ผู้ป่วยใหม่หลังวันที่ 1 ตุลาคม กลับต้องจ่ายเต็มทั้งหมด โดยขอให้ศาลปกครองพิจารณาให้สปสช.ยกเลิกข้อบังคับดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลที่ต้อง เท่าเทียมทุกคน

“หลังจากวันที่ไปฟอกเลือดครั้งแรก เมื่อเกิดความไม่เป็นธรรม ผมจึงทำเรื่องฟ้องศาลปกครองในเดือนมกราคมปีเดียวกันทันที โดยยกมาตรา 51 และ 53 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในการดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องจากมาตรา 51 ระบุชัดว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการรักษาพยาบาล และมาตรา 53 ระบุถึงผู้สูงอายุที่ควรได้รับสวัสดิการต่างๆจากรัฐ ซึ่งขณะนี้ศาลรับฟ้องแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี” นายนพดล  กล่าว

นายสุบิล   กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยไตสิทธิบัตรทอง  ผู้ป่วยประกันสังคมก็เช่นกัน  โดย เฉพาะผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ป่วยก่อนเป็นผู้ประกันตนโดยถือสมุดสีเขียว เนื่องจากยังไม่ได้รับสิทธิกรณีการปลูกถ่ายไต ยากดภูมิ และฮอร์โมนเพิ่มเม็ดเลือดแดง ทั้งๆ ที่เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554  สปส.ประกาศชัดว่าจะให้สิทธิดังกล่าว  แต่ จนบัดนี้กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ชมรมเพื่อนโรคไตจึงขอเรียกร้องให้ดำเนินการตามที่ให้ข่าวภายใน 1 เดือน หากไม่มีการดำเนินงานใดๆ จะขอเข้าพบ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้ ทางชมรมได้ยื่นหนังสือเรียกร้องเรื่องนี้ไปที่ สปส.หลายครั้ง  

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยไตเรื้อรังฟ้องศาลปกครอง ว่า ข้อบังคับเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตเรื้อรังนั้น ได้ออกแบบอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม อย่างการล้างไตผ่านช่องท้อง ถือเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากการฟอกเลือด  ที่ สำคัญหากมุ่งไปที่การฟอกเลือดอย่างเดียวอาจทำให้การบริการช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันพยาบาลที่จะทำการฟอกเลือดไม่ได้มากนัก ดังนั้น  การล้างไตผ่านช่องท้องจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้นและทั่วถึง  โดยเฉพาะในชนบท  ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยในระบบบัตรทองอยู่ที่ 2 หมื่นคน โดยครึ่งหนึ่งรักษาด้วยการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งประสิทธิภาพก็ไม่แตกต่างกัน  

ผู้สื่อข่าวถามว่า การมุ่งไปที่การล้างไตผ่านช่องท้อง เนื่องจากปัญหางบประมาณหรือไม่ นพ.ประทีป กล่าวว่า งบประมาณไม่ใช่ประเด็น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการล้างไตผ่านช่องท้องอยู่ที่ 220,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่การฟอกเลือดอยู่ที่ 250,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งไม่แตกต่างกันเลย  

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อบังคับของสปสช.กรณีสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไต กำหนดให้ผู้ป่วยไตก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 สามารถล้างไตผ่านช่องท้องได้ฟรี แต่หากต้องการใช้วิธีฟอกเลือดต้องจ่าย 500 บาท โดย สปสช.จะร่วมจ่าย 2 ใน 3 ส่วน ผู้ป่วยไตหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ล้างไตผ่านช่องท้องฟรีเช่นกัน แต่หากต้องการฟอกเลือดต้องจ่ายเต็มทั้งหมด ทั้งนี้ ข้อมูลของ สปสช.ระบุมาตลอดว่าการรักษาทั้งสองอย่างไม่แตกต่างกัน ทั้งประสิทธิภาพ อัตราการเสียชีวิตที่ฟอกเลือดอยู่เพียงร้อยละ 18 ขณะที่ล้างไตผ่านช่องท้องอยู่ที่ร้อยละ 19 ซึ่งไม่ต่างกันมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น