xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.บอร์ด สปส.ยืนยันสิทธิ์รักษาโรคไตไม่มีปัญหา อยู่ระหว่างดำเนินการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดก.แรงงาน
ประธานบอร์ดสปส. สั่งเร่งดำเนินการเข้าถึงสิทธิ์โรคไต ย้ำ ประกาศไปแล้วได้รับสิทธิ์แน่นอน แจงเหตุตีเรื่องกลับไปอนุกรรมการฯ เพราะต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจน ชี้ไม่มีปัญหา-ได้คำนวณมาแล้ว ส่วนประกันสังคมนอกระบบ ไม่ขัด พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ เหตุให้บริการด้านอื่น-ให้สิทธิ์รักษาแก่ผู้ยังไม่ได้รับสิทธิ์

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.)ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) กล่าวถึงกรณีชมรมเพื่อนโรคไต ออกมาเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.)เร่งดำเนินการให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยโรคไตก่อนเข้าเป็นผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามที่คณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติของบอร์ดสปส. เมื่อวันที่ 26 เมษายน ในการให้สิทธิ์ 7 ด้าน อาทิ การฟอกไต ฟอกเลือด การเข้าถึงยากดภูมิ และยากระตุ้นเม็ดเลือด ว่าจะสั่งการให้ สปส.เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะเมื่อเป็นมติของคณะกรรมการสปส. ออกมาแล้วก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น ส่วนกรณีที่มีการส่งเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์ของสปส.เข้าใจว่าคงต้องการพิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนงบประมาณดำเนินการนั้นไม่มีปัญหาเพราะได้คำนวณตัวเลขทั้งจำนวนผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตซึ่งจะใช้สิทธิ์ดังกล่าวและงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลของระบบหลักสุขภาพถ้วนหน้าได้ เนื่องจากอาจจะขัดต่อมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ขอยืนยันว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ของประกันสังคมสามารถใช้สิทธิ์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ เนื่องจากมาตรา 40 เป็นการให้สิทธิประโยชน์ในด้านอื่น จากสปส. โดย รูปแบบที่ 1 (100 บาท )ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 30 บาท จะได้รับสิทธิ์ 3 กรณี คือ ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ส่วนรูปแบบที่ 2 (150 บาท ) ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท จะได้รับสิทธิ์บำเหน็จชราภาพ เพิ่มจากรูปแบบที่ 1

“ก่อนหน้าที่กระทรวงแรงงานจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมได้มีการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้ว จึงมั่นใจว่าการดำเนินการไม่ขัดต่อกฎหมายใดๆ และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้ระบุไว้ว่าต้องให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาลจากหน่วยงานใด ซึ่งผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์การบริการรักษาพยาบาลของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ก็คือ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ข้าราชการ และผู้ที่มีประกันชีวิตเท่านั้น” นพ.สมเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น