xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตนขู่ฟ้องสปสช.- สปส.ละเว้นหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะโฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเดินหน้ารุก ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ให้ออกพระราชกฤษฎีกาให้สิทธิ์บัตรทองแก่ผู้ประกันตน ขู่ฟ้องศาลปกครอง สปสช. - สปส.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในการให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตน
 
ความไม่เป็นธรรมในการได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิไม่เท่าเทียมกับผู้ได้รับสิทธิตามกองทุนประกันสุขภาพ จนเป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ถึงขั้นเลิกจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนยังคงคุกรุ่น ล่าสุดชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้เข้ายื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงแรงงานฯ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ ก่อนที่จะเดินเข้าสู่การพึ่งกระบวนการศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เวลา 10.30 น. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน พร้อมด้วยตัวแทนชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้ง สปสช. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตรา 5 ที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่ พรบ.ฉบับนี้กำหนด

และมาตรา 10 ที่กำหนดให้ สปสช.เตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งทั้ง สปสช. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ต้องหารือร่วมกันในเรื่องนี้ และเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มการให้บริการแก่ผู้ประกันตน

น.ส.สารี กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อให้ สปสช.จัดบริการแก่ผู้ประกันตนนั้น ในมาตรา 66 ยังระบุให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บังคับใช้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งจนถึงขณะนี้เป็นเวลาล่วงเลยมา 8 ปีแล้วก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ที่สำคัญ ผู้ประกันตนซึ่งต้องได้รับสิทธิตามกฎหมายนี้ยังไม่เคยทราบเหตุผลที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่ทั้ง สปสช. และ สปส. มีหน้าที่ต้องรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการต่อ ครม. และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว

ในบ่ายวันนี้ (4 เม.ย.) ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ยังเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.สมเกียรติ์ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในฐานประธานคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อขอให้เร่งดำเนินการเช่นกัน

“เราขอให้ รมว.สาธารณสุข ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาโดยเร็วในการให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะถือว่าเป็นการละเว้นและไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งคงต้องมีการฟ้องต่อศาลปกครองไป” โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าว

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ดี เพราะจะทำให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งในการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. นี้ ทาง รมว.สาธารณสุข อาจนำเรื่องนี้บรรจุในวาระการประชุม และแต่งตั้งตัวแทนเพื่อหารือกับทาง สปส. ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ทางชมรมผู้พิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเรียกร้องนั้น ตามกฎหมายจะต้องเป็นการโอนมาพร้อมงบประมาณของ สปส.ด้วย แต่ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องการหยุดจ่ายเงินรักษาพยาบาลในส่วนผู้ประกันตนและให้ทางรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะต้องมีการคำนวณงบประมาณเหมาจ่ายในส่วนผู้ประกันตนที่เหมาะสมใหม่ เนื่องจากต้องยอมรับว่าการบริการในส่วนของระบบบัตรทองและ สปส. นั้นแตกต่างกัน

โดยในส่วนของระบบบัตรทองการรักษาจะเป็นการเริ่มต้นในส่วนของบริการปฐมภูมิที่เริ่มจากสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนก่อน ขณะที่ระบบ สปส.จะเริ่มที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริการมีความแตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้ทาง ดร.อัมมาร สยามวาลา รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (คพคส.) อยู่ระหว่างการพิจารณาเคาะต้นทุนการบริการสำหรับผู้ประกันตน

“การดำเนินการตามมาตรา 10 นั้น ที่ผ่านมา ความพร้อมไม่พร้อมไม่ได้อยู่ที่ตัวสำนักงาน แต่อยู่ที่ความพร้อมของผู้ประกันตนที่ไม่เข้าใจ และไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปล ซึ่งในช่วงเริ่มต้นยอมรับว่า ระบบบัตรทองมีปัญหา งบไม่พอ ทำให้คนคิดว่า เราอยากได้เงิน สปส.มาโปะในระบบ แต่หลังจาก 8 ปี สปสช.ได้มีการพัฒนาระบบไปมาก จนมีความพร้อมแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกันตนเอง ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจว่าอะไรที่เป็นประโยชน์สูงสุด” เลขาธิการ สปสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น