xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอภิสิทธิ์ลอยตัวหนีปัญหา ถึงเวลานับถอยหลังหยุดจ่ายเงินประกันสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้เขายังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อปัญหาการรักษาพยาบาลแบบสองมาตรฐานระหว่างกลุ่มผู้ประกันตนกับกลุ่มได้รับบริการสุขภาพถ้วนหน้า
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การเพิกเฉยไม่ใส่ใจแก้ไขปัญหาระบบประกันสุขภาพแบบสองมาตรฐานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทั้งที่มีความชัดเจนว่าการบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินประกันสังคมสมทบค่ารักษาพยาบาลเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ แถมสิทธิรักษาพยาบาลยังด้อยกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จุดชนวนให้การเรียกร้องความเป็นธรรมกำลังลุกลามบานปลายถึงขั้นหยุดจ่ายเงินสมทบและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อบังคับให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม

ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากกรณีวิกฤตน้ำมันปาล์ม หรือวิกฤตน้ำท่วมรอบแรกและรอบสองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ หรือแม้กระทั่งปัญหาระหว่างไทย - กัมพูชาที่ผิดพลาดเรื้อรังเรื่อยมาเท่านั้น

กรณีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในมาตรฐานการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความชัดเจนในปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กระทั่งถึงวันนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ยังลอยตัวหนีปัญหาไม่เข้ามาดำเนินการใดๆ ปล่อยให้เรื่องราวลุกลามบานปลายออกไปถึงขึ้นที่มีกลุ่มผู้ประกันตนประกาศใช้มาตรการหยุดจ่ายเงินประกันสังคมสมทบรักษาพยาบาล โดยจะเริ่มรณรงค์กันตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ และกำหนดวันหยุดจ่ายสมทบในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

มิหนำซ้ำ การเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาสองมาตรฐานของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม ยังถูกสวนกลับจากนาย ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมในลักษณะราดน้ำมันลงบนกองไฟทันทีว่า ถ้าหยุดจ่ายก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน รับฟังเรื่องนี้ด้วยท่าทีที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว แถมยังไม่หวั่นหากจะถูกฟ้องต่อศาลปกครองและศาลอาญาเนื่องจากเพิกเฉยต่อคำสั่งของผู้ตรวจการแผ่นดินเพราะเรื่องนี้ต้องว่ากันถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงจะถือเป็นที่สุด

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้สนใจเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งปัดไปให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่นเดียวกันกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวไปกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทั้งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เงินเดือนผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศถึง 10 ล้านคน

การเพิกเฉยของฝ่ายรัฐ ทำให้ตัวแทนนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในเรื่องการจัดเก็บเงินสมทบของสำนักงานประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 46 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30

ต่อมา นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล และได้ข้อสรุปว่า ตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้ประชาชนทั่วไปได้รับบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมายประกันสังคม พ.ศ. 2533 จึงขอให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ปัญหา และเร่งแก้ไขกฎหมาย หากยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กฎหมายประกันสังคมขัดรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่ ต่อไป

อันที่จริง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระบบประกันสังคมนี้ มีความชัดเจนอยู่แล้วว่ามีปัญหาที่จะต้องแก้ไขเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ แต่ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ก็เอาแต่ยืนกรานว่า กฎหมายประกันสังคมกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบตามสัดส่วน 5%-5%-2.75% ตามลำดับ และเงินจำนวนดังกล่าวก็จะจัดสรรตามสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย, ว่างงาน, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, ตาย, ชราภาพ, สงเคราะห์บุตร

การที่นายจ้างและลูกจ้างจะมาบอกว่าจะหยุดจ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาลหรือกรณีเจ็บป่วยนั้นทำไม่ได้หากเห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะเป็นผู้ประกันตนเป็นเพียงคนเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบเองขณะที่ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือประชาชนทั่วไปที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องจ่ายสักสตางค์เดียว ก็ต้องรอให้มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเสียก่อน

ส่วนสำนักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุข ก็แก้ตัวว่า ตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2545 ได้ขยายการการให้บริการสุขภาพซึ่งหมายรวมไปถึงการรักษาพยาบาลไปยังมีผู้สิทธิตามกฎหมายประกันสังคมแล้ว และที่ผ่านมาก็ได้ประสานไปยังสำนักงานประกันสังคม และได้รับคำตอบกลับมาว่ายังไม่พร้อม

ทั้งที่เมื่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายประกาศใช้แล้วนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพและคณะกรรมการประกันสังคม ต้องรีบคุยกัน จากนั้นก็นำเสนอเรื่องรัฐบาลเพื่อตราเป็นพ.ร.ฏ.กำหนดเวลาเริ่มให้บริการด้านสุขภาพตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแก่ผู้ประกันตน โดยให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปีหลังกฎหมายนี้ประกาศใช้

แต่จนเวลาล่วงเลยมา 8 ปี จนถึงปี 2554 เรื่องนี้ก็ยังคาราคาซังอยู่ กระทั่งผู้ประกันตนต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลลงมือจัดการแก้ไขปัญหา ข้อเสนอจากฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนที่ขอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจ” ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในเรื่องนี้ ยังไม่มีเสียงตอบรับแต่อย่างใด

(อ่านรายละเอียด ความเหลื่อมล้ำในระบบรักษาพยาบาล และบริการรักษาพยาบาลที่ย่ำแย่ของระบบประกันสังคมในข่าวประกอบ) 
กำลังโหลดความคิดเห็น