ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ร่อนหนังสือถึง “จุรินทร์” ร้องบอร์ด สปสช. ทำหน้าที่ไม่ตรงตาม ม.5-ม.10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ หากยังเฉยจะฟ้องศาลปกครอง ด้านเลาขา สปสช.เตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด 18 เม.ย. นี้
วันนี้( 4 เม.ย.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมผู้พิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ว่า การเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อเรียกร้องให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการตราพระราชกฤษฎีกาให้บริการแก่ผู้ประกันตนที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตนทุกคน เนื่องจากตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 5 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด ขณะ เดียวกันในมาตรา 10 ยังให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วย ประกันสังคม และให้เสนอรัฐบาล เพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มการให้บริการแก่ผู้ประกันตน โดยกฎหมายยังได้กำหนดในมาตรา 66 ให้ตราพระราชกฤษฎีกาภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ คือ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง สปสช. และสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ต้องรายงานต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสาธารณะ เพื่อทราบ แต่ในความเป็นจริง เวลาล่วงเลยมากว่า 8 ปี กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ เลย
นส.สารี กล่าวด้วยว่า อยากให้ รมว.สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ดำเนินการตราพระราชกฏษฎีกาให้บริการแก่ผู้ประกันตนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยชอบที่ต้องดำเนินการ แต่หากไม่มีการดำเนินการ จะถือว่าเป็นการละเว้นและไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และทางชมรมฯ จะเดินหน้าเพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองเกี่ยวกับการละเว้นกรณีดังกล่าว
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช. พร้อม ทั้งจะขอให้มีการแต่งตั้งผู้แทนของ บอร์ด สปสช. เพื่อเข้าหารือกับ บอร์ดคณะกรรมการประกันสังคม เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการโอนสิทธิมายัง สปสช. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินในส่วนนี้ ซึ่งไม่เข้าข่ายในมาตรา 10 เนื่องจากกรณีที่ให้ภาครัฐจ่ายเองนั้น จำเป็นต้องหารือถึงเม็ดเงินที่จะมาอุดหนุน ซึ่งขณะนี้นายอัมมาร สยามวาลา ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)อยู่ระหว่างการศึกษาตัวเลข ทั้งนี้หากดำเนินการตามมาตรา 10 ผู้ประกันตนจะยังคงเป็นผู้จ่ายเงินสมทบอยู่ เพียงแต่เรื่องสิทธิรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของสปสช.บริหารจัดการ เรื่องนี้ยังไม่แน่ชัด ทางที่ดีที่สุดควรมีการสร้างกระบวนการเข้าใจให้แก่ผู้ประกันตน ว่า จ่ายเงินสมทบอยู่ หรือต้องการให้รัฐบาลจ่าย