xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านยิ้ม” เมื่อ กทม.เล่นบทพ่อพระ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าฯกทม.
รายงานพิเศษ โดย...สาริน จันทะรัง

“บ้าน” ใครๆ ก็อยากมี แต่คุณภาพดี ที่สำคัญ “ผ่อนสบาย” ในยามเงินฝืดกระเป๋า คงหาได้ไม่ง่าย แต่เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่กำลังจะเปิดตัวโครงการ “บ้านยิ้ม” ในวันที่ 1 เมษายนนี้เพื่อเอาใจข้าราชการ-ลูกจ้างกทม.ที่มีรายได้ต่ำกว่า 13,500 บาท สามารถผ่อนบ้านได้ในราคาแค่ 1,850 บาท ก็ทำเอาข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเองยิ้มแก้มปริไปตามๆ กัน
 
แต่รู้ไหมว่า กว่าจะมาเป็นโครงการบ้านยิ้มในยุคของคุณชาย มันได้ผ่านมือ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่ยังลี้ภัยอยู่ต่างแดนมาแล้วในเวอร์ชันแรก ส่วนเวอร์ชันที่ 2 ถูกส่งถึง “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้รับแค่คำขอบคุณ แต่ไร้การสานต่อ จนเจ้าของโปรเจ็กต์อย่าง “ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าฯกทม.ที่ขณะนั้นยังเป็นผู้บริหารมือทองด้านอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ตัดสินใจเสนอโครงการนี้อีกครั้งกับคุณชายสุขุมพันธุ์ขณะกำลังหาเสียงเลือกตั้งเพื่อชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
 
จนในที่สุด เวอร์ชันที่ 3 ก็ประสบผลสำเร็จเมื่อได้รับการตอบรับจากผู้บริหารสูงสุดของกทม.เคาะโครงการบ้านยิ้มออกมาจนได้ทำให้ฝันแรกของการเป็นรองผู้ว่าฯ เมืองหลวงครั้งที่ 2 ของอดีตอาจารย์พิเศษจากรั้วจามจุรีเป็นจริง...แต่จะสำเร็จหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ?
 
“ที่ผมอยากทำโครงการนี้เพราะที่ประเทศสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่นก็มีชุมชนแออัดแต่เขาสามารถนำคนเหล่านั้นมาอยู่บนตึกในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งเขาใช้เวลาถึง 20 ปีถึงสำเร็จได้ มารอบนี้เลยส่งให้ผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2551 ตอนหาเสียง ก็บอกท่านว่าอยากทำเรื่องนี้ เพราะอยากทำให้คนมีที่อยู่อาศัย เหมือนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ท่านก็โอเคให้เข้ามาช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกทม.ให้ดีขึ้นโดยเริ่มต้นที่คุณภาพชีวิตของข้าราชการ-ลูกจ้างกทม.ก่อน”
 
แต่ดูเหมือนจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวโครงการที่นำอาคารชุดเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติถึง 10,000 ยูนิตมาเสนอขาย ในราคาห้องเปล่า 390,000 บาท แต่หากรวมเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างอยู่ที่ 450,000 บาท ลดค่าส่วนกลางรวม 30,000 บาท ใน 5 ปี แถมผ่อนในอัตราดอกเบี้ย 2.75 % คงที่ 30 ปี ซึ่งแม้ดอกเบี้ย-เวลาผ่อนจะเป็นตัวดึงดูดใจให้กับฝันของคนมีบ้าน แต่คุณภาพที่มากับคำว่า “เอื้ออาทร” กลับบั่นทอนการตัดสินใจควักเงินออกจากกระเป๋าในยุคนี้อย่างแรง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อเสียงด้านลบมันกลบข้อเด่นของโครงการเอื้ออาทรไปเกือบหมดจนทำให้มีสต็อกค้างหลายโครงการ
 
“ผมบอกการเคหะฯ ว่า เราหาลูกค้ามาให้แล้ว เขาจะจองเท่าที่เขาพอใจ งานนี้ไม่มีการบังคับและถ้าขายไม่ครบหมื่นยูนิตหรือขายไม่ออกก็เป็นความเฮงซวยของการเคหะฯ เพราะเขาไม่ดูแลทรัพย์สิน ไม่ดูแลคุณภาพของสินค้าของเขา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเราสามารถเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนที่ตอนนี้เสนอตัวเข้ามาร่วมโครงการหลายราย”

“แล้วก็มีรายใหญ่ๆ ที่อยากเข้าร่วมโครงการบ้านยิ้มโดยเสนอลดราคาให้เราเยอะมากซึ่งที่คิดไว้จะจัดแบบมหกรรมบ้านและคอนโดฯ มีการเปิดบูธแสดงราคาชัดเจนที่พิเศษจริงๆ สำหรับข้าราชการ-ลูกจ้าง กทม.โดยจะทำอย่างโปร่งใสไม่ให้มีคำครหา ซึ่งถ้าผมเปิดให้ภาคเอกชนก่อนก็จะโดนข้อหาเอื้อเอกชน ถูกไหม ดังนั้นก็ควรให้โอกาสหน่วยงานของรัฐที่เรารู้ว่าราคามันถูกดี แล้วถ้ายังขายไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าขายได้ก็จบ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะทำภาคประชาชนต่อ”
 
รองฯ ธีระชนอธิบายต่อว่า โมเดลนี้ถ้ารัฐบาลเข้าใจในสิ่งที่ตนเสนอว่าให้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านให้ต่ำที่สุดและหาเงินทุนมาค้ำประกัน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการก่อสร้างในประเทศเหมือนที่จีนกำลังใช้วิธีการดังกล่าวในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศของเขาอยู่ เนื่องจากจำนวนบ้านในตลาดมีแค่แสนกว่าหน่วย ซึ่งหากสำรวจความต้องการของประชาชนแล้วเกินแน่นอน ดังนั้นจะทำให้สามารถระบายสินค้าได้รวดเร็วเพราะคนอยากมีบ้าน
 
และไม่เพียงแค่โครงการบ้านยิ้มที่จะช่วยทำฝันของคนอยากได้บ้านเป็นจริง ชาวแฟลตดินแดงก็อาจจะมีโอกาสได้อยู่บนคอนโดฯ คุณภาพเอกชน หากการเคหะฯ กล้าขยับ รัฐบาลทำจริงจังเหมือนสิงคโปร์  -ญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เรื่องยากแม้ต้องอาศัยระยะเวลา...
 
“เรื่องแฟลตดินแดง ถ้าการเคหะฯ มีศักยภาพก็สามารถทุบตึก 5 ชั้น สร้างตึก 30 ชั้นขึ้นแทนแบบคอนโดมิเนียม แล้วผ่อนแบบถูก สิงคโปร์ใช้เวลา 20 ปี ถ้าเราจะใช้เวลา 20-30 ปี ก็เป็นไปได้ ทั้งสิงคโปร์-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน-เกาหลีใต้ สร้างของใหม่ให้อยู่ใกล้ที่เดิม และทุกวันนี้ญี่ปุ่นก็ยังทำ ซึ่งก่อนที่เขาจะย้ายคน เขาจะสร้างของใหม่ใกล้ๆ ที่เดิมแล้วย้ายคนไปอยู่เพื่อให้เห็นข้อเปรียบเทียบว่าของใหม่ดียังไง น่าอยู่กว่าแค่ไหน ไม่ใช่ให้คนดินแดงย้ายไปอยู่หนองจอก ซึ่งผมเห็นต่างประเทศเปลี่ยนแปลงเราก็อิจฉา ดังนั้นถ้ารัฐบาลกล้าทำ สลัมจะอยู่บนตึกแทน กทม.จะเปลี่ยนแปลง บ้านสังกะสี 4 ด้านจะหายไป ซึ่งคุณต้องเริ่ม”
 
ดังนั้น การเล่นบทพ่อพระในครั้งนี้ของ กทม.จะประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ต้องการสานฝันให้คนมีบ้านหรือไม่ อาจทำให้การเคหะฯรอดตาย สถาบันการเงิน 4 แห่งได้อานิสงส์ อีกไม่กี่วันคงรู้ แต่ที่รู้ๆ กทม.ได้ดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้นแน่นอน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น