xs
xsm
sm
md
lg

Ten in One

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


CASE หรือ Community Architecture for Shelter and Environment คือกลุ่มสถาปนิกชุมชนที่ผลิตเนื้องานเป็นที่ยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง ก่อตั้งเมื่อปี 2539 พวกเขาทำงานเกี่ยวกับชุมชนโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ด้วยความเชื่อว่าคนน่าจะเป็นผู้ที่แก้ปัญหาของตัวเองได้ดีที่สุด เน้นความสัมพันธ์ของคนที่เป็นเจ้าของ สภาพแวดล้อม พฤติกรรมการใช้สอย ลักษณะความเชื่อทางสังคม และงบประมาณ

ปี 2542 จากการพูดคุยระหว่าง CASE กับเพื่อนสถาปนิกชาวญี่ปุ่นเกิดเป็น CASE ญี่ปุ่นขึ้น และทำงานไปในทิศทางเดียวกันตลอดมา กระทั่ง CASE ญี่ปุ่น เกิดโครงการ TEN Osaka ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อคนด้อยโอกาสในญี่ปุ่น โดยให้คน 10 คนมาอยู่ในที่ดินเดียวกัน แต่มีการออกแบบที่อยู่อาศัยแยกเป็นสัดส่วน และนำมาสู่การเกิดขึ้นของ TEN Bangkok แต่ปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นชนชั้นกลางในเมืองแทน

ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เธอเป็นสถาปนิก เป็นผู้ก่อตั้ง CASE และหนึ่งในสมาชิกของ TEN บ้านที่สร้างในที่ดินเดียวกัน แต่แยกเป็นสัดส่วนชัดเจน โดยมีสมาชิก 10 คนอาศัยอยู่ร่วมกัน

เธอบอกว่าที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลางดูเหมือนรัฐจะไม่ค่อยสนใจ ขณะที่คนมีเงินก็ไม่มีปัญหาเรื่องซื้อบ้าน ส่วนคนจนก็มีรัฐคอยอุ้มชูในระดับหนึ่ง แต่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เหมือนกับแป๊กอยู่ตรงกลาง เต็มไปด้วยข้อจำกัด ไม่มีตัวเลือก ถ้าไม่อยู่หอก็อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียนหรือก็แสนแพง TEN จึงเป็นโครงการทดลองที่ CASE อยากเสนอเป็นตัวเลือกด้านที่อยู่อาศัยสำหรับชนชั้นกลาง ผสมผสานระหว่างความเป็นชุมชนและความเป็นปัจเจกเข้าด้วยกัน

ฟังดูน่าสนใจและไม่น่าจะยาก แต่ลองไปฟังเธอเล่า แล้วจะพบว่ากว่าจะตกลงเรื่องการอยู่ร่วมกัน กว่าจะได้แบบที่ลงตัวกันทุกฝ่าย และกว่าจะกู้เงินธนาคารได้ ทุกขั้นตอนล้วนหนักหนา ยิ่งไปกว่านั้นมันยังสะท้อนแนวคิดแบบทุนนิยมและระบบการจัดสวัสดิการของรัฐด้านที่อยู่อาศัยได้อย่างมีแง่มุมที่น่าไตร่ตรอง

ที่มาของ TEN
หลังจากที่เราทำงานชุมชนมาหลายปีอยู่ มันก็เริ่มเกิดคำถามเปรยขึ้นมาว่าชาวบ้านโชคดีนะมีสิทธิเลือกที่จะอยู่ตรงไหน มีเงินเท่าไหร่ ทำยังไง มีบ้านได้ รัฐก็สนับสนุน ทำไมคนชั้นกลางอย่างเราจึงเลือกไม่ได้ ต้องเช่าหอ อยู่อพาร์ตเมนต์ ไม่ก็อยู่กับพ่อกับแม่ บ้านจัดสรรก็ไม่มีกำลังซื้อ

เราก็เลยมองว่าทำไมคนชั้นกลางทำไม่ได้ ประกอบกับเราคุยกับ CASE ญี่ปุ่น เขามีโปรเจกต์หนึ่งซึ่งถ้าจะเทียบแล้วก็คือโปรเจกต์ที่เราทำอยู่กับคนจนทั่วไป แต่ว่าคนจนเขากับคนจนเราไม่เหมือนกัน พอขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วมันเหมือนบ้านคนรวย เหมือนบ้านคนชั้นกลางทั่วไป พอเราเห็นงานของญี่ปุ่นขึ้น เราก็คิดว่าน่าทำ ลองทำให้คนชั้นกลางดีกว่าเพราะว่ามีคำถามเยอะ เอาเพื่อนฝูงกันมาทำก่อน คุยกับเพื่อน กับน้องในออฟฟิศ ถามว่าใครอยากลอง ก็มีน้องที่เป็นสถาปนิกที่ทำงานอยู่ด้วยกันเอาด้วย ก็เริ่มจากตรงนั้น

ในเว็บของ TEN ตอนหนึ่งเขียนว่า ‘ชนชั้นกลางถูกทิ้งให้อยู่กับการไร้วิสัยทัศน์ของการสร้างที่พักอาศัยที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ นำไปสู่ทางตัน ไม่มีโอกาสและทางเลือก’ หมายความว่าอะไร
สมาชิก TEN คนหนึ่งเป็นคนเขียน ซึ่งมองว่าโดยเนื้อหาบ้านเราแล้ว โครงการที่จะเอื้อจริงๆ กับคนกลุ่มใหญ่ยังไม่มีอะไรชัดเจนหรือหลากหลายและก็มองแค่คืบแค่ศอก เขาก็เลยอาจจะหมายถึงสิ่งเหล่านี้ว่าไร้วิสัยทัศน์ คิดแค่ว่ามีเงินแค่นี้ก็เอาแค่นี้ เป็นการมองแค่บริบทใดบริบทหนึ่ง แต่การจะสร้างบ้าน ซื้อบ้าน หรือการจะมีบ้านอยู่ มันไม่ได้มองแค่ราคาบ้านแล้วจบ แต่ต้องมองทำเล วิถีชีวิต และงบประมาณที่สอดคล้องกัน

เราคิดว่าทำยังไงคนถึงจะมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ คุณภาพไม่ได้หมายถึงแค่อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็กถูกต้องตามขนาด มีคุณภาพคือเหมาะตามขนาดกระเป๋าเรา อยู่สบาย ไม่ใช่ว่าสวยจริง แต่ไม่เหมาะกับขนาดกระเป๋า อยู่ไปก็ไม่สบายใจ จะโดนยึดมั้ย นั่งทำงานหัวฟูเพื่อจะผ่อนบ้าน แบบนี้ไม่ใช่ มันต้องอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตและจิตใจที่ดี

ที่สำคัญ เรามองว่าเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการที่คนมาอยู่รวมกันหรือการเป็นชุมชน ปัจจุบันนี้ ถ้าไม่ใช่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าๆ ที่รู้จักกันมานาน แทบไม่ได้รู้จักกันเลย อย่างเพื่อนเราคนหนึ่งที่ไปซื้อบ้าน ทั้งซอยอยู่กันมา 3 ปีแล้วก็ยังไม่รู้จักกันเลย ขโมยก็ขึ้นอยู่นั่นแหละ เลยมองว่าทำไมเราไม่...คือความสัมพันธ์ของมนุษย์มันน่าสนใจ และมันน่าจะพัฒนาขึ้นได้ด้วย แล้วทำไมมองแค่บ้านอย่างเดียว มันมีเรื่องอื่นที่ควรจะมองตั้งเยอะ เพราะครอบครัวเป็นบ้าน บ้านเป็นชุมชน ชุมชนเป็นเมือง เมืองก็เป็นประเทศ

กระบวนการทำงานเพื่อจะให้คน 10 คนมาอยู่ในที่เดียวกัน ยุ่งมั้ย
มันยุ่งในระดับหนึ่ง ยุ่งในเนื้อหา เพราะคน 10 คนมาอยู่ด้วยกันมันต้องยุ่งอยู่แล้ว แต่ที่ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้นเพราะ 10 คนนี้เราเลือกกันมาเองตั้งแต่ต้น เมื่อเราเลือกเพื่อนบ้านก่อนมันจึงลดความยุ่งยากไปได้เยอะ อย่างน้อยที่สุดฉันก็อยากอยู่กับคนกลุ่มนี้ แต่เมื่อไม่เคยมีที่ไหนทำแบบนี้ ก็เลยต้องมานั่งคิดกันว่าแล้วจะอยู่กันยังไง แทนที่เราจะนั่งคิดคนเดียว ก็ต้องมานั่งคิดกัน 10 คน ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคิด 10 คน มันก็มีความยุ่งตรงนี้ แต่ถามว่าสนุกมั้ย มันก็สนุกดี

เรานั่งทำแบบอยู่ประมาณ 1 ปี ใครว่างช่วงไหนก็นัดเจอกัน ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ข้อดีคือ Final Design คือ Final มีคนเคยถามว่าทำแล้วต้องเปลี่ยนแบบเยอะมั้ย แทบไม่เปลี่ยนเลย ด้วยความที่มันตกผลึก ทำกันมานานมาก ทำกันมาเรื่อยๆ จึงแทบไม่เปลี่ยนเลย แต่ระหว่างนั้นต้องคุย ต้องปรับตลอด

คุยกันถึงว่าจะอยู่ตรงไหน ก็อยู่แถวนี้แหละ ใกล้ออฟฟิศด้วย ที่ยังไม่แพงมาก ราคานี้พอรับไหว ถ้าขยับมาเป็นราคานี้เราจะเอายังไง จะอยู่แบบคอนโดฯ หรือยังไง ขอทำเป็นรูปแบบทาวน์เฮาส์ดีกว่าคือขอให้มีดิน แล้วจะอยู่กันยังไง

ใน 10 คนนี้ต่อให้เป็นเพื่อนกัน แต่ฉันไม่อยากอยู่ใกล้ไอ้นี่ ก็พูดแบบว่าฉันว่าฉันอยู่ตรงนี้ดีกว่า (หัวเราะ) ออกไปทำนองนั้น มีนอกรอบเล็กน้อย โทรศัพท์คุยกัน ล็อบบี้ ฉันไม่อยู่ใกล้ไอ้นั่น ในที่สุดก็นำมาจัดระบบระเบียบกัน แล้วค่อยๆ พัฒนาจากตรงนั้น พอมาเรียงแล้วก็ เอ๊ะ ถ้าอย่างนี้มันต้องคิดเรื่องนั้นด้วยสิ เริ่มคิด เริ่มเป็นกฎ บอกว่า เฮ้ย อยากมีสระว่ายน้ำ แต่หน้ากว้างแค่ 4 เมตรจะมีสระว่ายน้ำได้ยังไง เลยถามว่าใครอยากมีสระว่ายน้ำบ้าง ก็มีอยู่สี่ห้าบ้านที่อยากมี เลยเอาสี่ห้าบ้านนี้มาอยู่ติดกัน สระว่ายน้ำก็เชื่อมกันเป็นแนวยาว ก็ว่ายได้ ออกมาเป็นอย่างนี้ แต่พอมีสระว่ายน้ำปุ๊บก็ต้องมานั่งคิดว่า เอ๊ะ ถ้าเกิดฉันมีญาติ มีพี่ มีน้องมา จะว่ายได้มั้ย กฎระเบียบก็ออกมาเรื่อยๆ จากการทำงาน

ช่วงคุยกัน มีขัดแย้งถึงขนาดขู่ว่าจะถอนตัวมั้ย
อุ๊ยยย ขู่น่ะมีตลอด ฉันไม่อยู่แน่ๆ ก็ขู่ไปเถอะ แต่จะมีกฎระเบียบที่คุยกันไว้ ถ้าจะเปลี่ยนมือ จะให้เช่า ต้องแจ้งสมาชิก ต้องคุยกันก่อน

การจัดความสมดุลระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวม
มันมาเอง จะสังเกตว่าโซนนี้จะแทบมองไม่ออกว่าบ้านไหนเป็นบ้านไหน แต่โซนอื่นจะชัดเจน ซึ่งโซนนี้มันมาจากเจ้าของจริงๆ ว่าความสัมพันธ์เป็นอย่างไร โซนนี้รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก บ้านข้างๆ เราเป็นญาติกัน โตมาด้วยกัน สนิทกันจนถึงบัดนี้ เลยดูเหมือนเป็นบ้านเดียวกัน มีแชร์กันบ้าง ถัดไปก็เป็นบ้านเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยอนุบาล เลยดูโล่ง เวลาจัดจึงเหมือนค่อยๆ จัดไปทีละนิดๆ อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่พฤติกรรมการใช้สอยกับความสัมพันธ์ของคนบ้านนี้มันเอื้อให้เกิดการเปิดพื้นที่ได้เยอะหน่อย ลักษณะการใช้พื้นที่ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ แต่ถ้าอีกโซนหนึ่ง เจ้าของจะอายุประมาณ 20 กว่า 30 ต้นๆ ทางนั้นจะแบ่งชัดเจนมาก พื้นที่ที่ดูเหมือนร่วมกันเป็นพื้นที่สำหรับหายใจอย่างเดียว เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่เปิดโล่ง

งบสำหรับพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันก็ต้องแชร์กัน?
ใช่ อย่างสระว่ายน้ำตอนแรกมีคนทำ 5 บ้าน ทำไปสักพักหนึ่ง ไอ้นู้นก็ใช้ด้วยได้เปล่าอะ บ้านนี้ก็ใช้ด้วยได้เปล่าอะ ตัดปัญหา หารหมดทุกบ้านเลย ตอนแรกก็แบบเอาขัดมันธรรมดาแล้วกันนะ พอเริ่มสร้างก็เหมือนพวกสร้างบ้าน บานปลาย ปูกระเบื้องหน่อยเหอะ เอาแผ่นละบาทพอนะ กระเบื้องแผ่นหนึ่งยังไม่พอ เปลี่ยนเป็นระบบน้ำเกลือได้มั้ย (หัวเราะ) เอาระบบน้ำเกลือใช่มั้ย หารเพิ่มอีกคนละเท่านี้นะ เอาหรือเปล่า

ใช้เสียงข้างมาก?
ใช่ เสียงข้างมาก เราไม่เห็นด้วย ไม่เอา ไม่ปูกระเบื้อง ที่เหลือจะปู เอา ปูก็ปู

กระบวนการตั้งแต่ต้นจนถึงย้ายเข้ามาอยู่ กินเวลานานหรือเปล่า
ออกแบบประมาณ 1 ปี หาแบงก์ประมาณ 2 ปี ไม่มีแบงก์ไหนให้กู้ เพราะไม่เข้าระบบอะไรเลย ตอนขออนุญาตจะขอเป็นทาวน์เฮาส์ก็ขอไม่ได้เพราะรูปแบบมันไม่ใช่ คนที่ถือกฎหมายเขาจะต้องเป๊ะๆๆ ถ้าเป็นที่พักอาศัยร่วมต้องมีทางเดินด้านหน้าร่วมกัน เราก็งง ทำไมต้องมีทางเดินด้านหน้าร่วมกันด้วย (วะ) คือเขาตีความแปลกๆ เราก็เลยขอเป็นอาคารเดียว ขอสร้างบ้านหนึ่งหลัง เขาก็ให้ ในที่สุดก็ได้ใบอนุญาตมา

ตอนขอกู้ เราบอกว่าเราทำโครงการ ขอกู้เป็นกลุ่ม 10 คน จะให้ต่างคนต่างยื่นกู้ก็ไม่ได้ เพราะว่าชนชั้นกลางจริงๆ กลางเด๊ะ เงินเดือนไม่ถึงที่จะกู้ซื้อบ้านได้ เด็กจบใหม่ หลายคนเป็นฟรีแลนซ์ กู้เป็นกลุ่มก็กู้ไม่ได้

เราเลยไปหาบ้านมั่นคง ไปบอกว่าฉันมีกลุ่มแล้ว มีกลุ่มออมทรัพย์ด้วย ฉันเก็บเงินแล้วเป็นก้อน ทำแบบก็เก็บเงินมาเรื่อยๆ รวมกัน 10 คนก็เป็นล้านนะ เขาบอกว่าไม่ได้ เธอไม่ใช่คนจน เราบอกว่า เฮ้ย เราจนนะ ถ้าเทียบกันแล้ว รายได้เท่านี้ รายจ่ายเท่านี้นะ และก็อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งจนมากด้วย เพราะเราเลือกไม่ได้ อย่างคนในชุมชนแออัดยังเลือกได้ว่าจะอยู่ตรงนี้ ทำเลนี้ ใกล้ที่ทำกิน ฉันจะมีแผงกันแดด จะปลูกต้นไม้ ฉันทำได้ แต่ถามคนที่อยู่หอพัก เลือกก็ไม่ได้ แต่ใกล้ที่ทำงานที่สุดแล้ว เราจึงรู้สึกว่าคนชั้นกลางในเมืองเป็น Informal Urban Poor

พอ Informal ปุ๊บ ทุกอย่างมันก็ไม่ได้เลย เราไปขอกู้แบบนี้ก็ไม่มี ไม่มีอะไรรองรับเลยสักนิด จึงต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าในบริบทแบบนี้ ในโครงสร้างแบบนี้ ในบรรทัดฐานของสังคมแบบนี้ เราจะทำยังไงให้มันทำได้ ตอนแรกคิดถึงขนาดว่าจะสร้างเอง ค่อยๆ หาช่างมา อิงระบบกสิกรรมฤดูกาลทำนา ช่วงที่เขาไปทำนากันเราก็เก็บเงิน พอเขาว่างจากการทำนา เราก็เอาเงินที่เราเก็บจ้างเขามาสร้าง

จนกระทั่งครั้งหลังสุด เพื่อนก็เสนอว่าให้กู้เหมือนทำธุรกิจ ไม่ใช่กู้เพื่อซื้อบ้าน ได้เงินไม่เกินเท่านี้ เอามั้ย เราก็มานั่งคิด นั่งคุยกัน ในที่สุดก็ตกลงว่าเอา ซึ่งเราก็ได้มาเฉพาะค่าปลูกสร้าง

ทำไมธนาคารไม่ปล่อยกู้เป็นกลุ่ม
ไม่รู้ เขาไม่เชื่อในคน คุยกันกับน้องที่อยู่ที่นี่ เขาเป็นอาจารย์ เป็นด็อกเตอร์อยู่ที่ศิลปากร พอแบงก์ที่หนึ่งไม่ได้ ที่สองไม่ได้ เขาเริ่มท้อ เขาบอกว่า เราสอนลูกนะ คนอย่างเราจะโกงมันเหรอ เงินก็ไม่ใช่ว่าเยอะ แต่คุณค่าเชิงนี้มันวัดไม่ได้ มันวัดได้เฉพาะตัวเลข เงินในแบงก์เราต่ำ เราถึงกู้ไม่ได้ ทำไมคุณค่าเชิงความดีมันวัดไม่ได้ ใช้ไม่ได้ มันก็เห็นอยู่ว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ ทำไมไม่ให้ เพราะมันต้องเข้าสูตรตัวเลขนั้น คือเงินในแบงก์เราน้อย จบ ไม่แฟร์นี่หว่า เขาก็พูดตลอด

ธนาคารเขาบอกว่าถ้า 5 คนไม่จ่าย แล้วอีก 5 คนรับผิดชอบไหวมั้ย ซึ่งเราก็แบบว่า อ้าว ไม่เชื่อเหรอ คบกันมาตั้ง 20 ปี เลือกแล้วแหละ เพราะถ้ามันไม่จ่ายเราก็หนักสิ เราก็มีข้อตกลงของเราอยู่แล้ว แต่หลักอันนี้ธนาคารเขาเชื่อไม่ได้ มันไม่ได้อยู่ในกฎระเบียบของเขา

ความเป็นไปได้จริงที่จะนำแนวคิดนี้ไปทำต่อ
เป็นไปได้เยอะมาก เพียงแต่ถ้ารัฐมองกลับมาเรื่องนี้บ้างนะ มีโปรแกรมที่สนับสนุนบ้าง จะง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ อย่างบ้านมั่นคงไม่ควรหยุดแค่คนกลุ่มเดียว เพราะในเมื่อมันเอื้อเรื่องสังคม วิถีชีวิต ก็น่าจะให้ใช้ได้กับคนทุกกลุ่มที่มีแนวคิดจะอยู่แบบนี้ ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องการมีสังคมที่ดี มีชุมชนเข้มแข็ง น่าจะช่วย ธนาคารของรัฐน่าจะมีโปรแกรมช่วยตรงนี้บ้าง เราทำมาเพื่อแก้ปัญหา พยายามเสนอทางเลือก

ความเป็นชุมชนมันเกิดมั้ย เพราะการที่คนมาอยู่รวมกันก็ไม่ได้แปลว่าจะเกิดเป็นชุมชน
เกิด (ตอบทันที) วิถีชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ถามว่าเป็นชุมชนมั้ย เป็น ยังมีการคุยกัน อย่างบ้านไหนกลับมาเร็ว เราเจอก็ถามว่าตกลงทำบุญวันไหน ค่าไฟไปจ่ายแล้วนะ เมื่อคืนก็มีบาร์บิคิว ก็สนุกดี ยังสนุกอยู่ แต่ถามว่ามีทะเลาะมั้ย มันมีอยู่แล้ว ตั้งแต่สร้างก็มีทะเลาะมาเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติ แต่ข้อสังเกตหนึ่งคือพอทะเลาะกันจะมีคนเข้ามา...เอ๊ย อย่าทะเลาะกันเลย อยู่ด้วยกัน จะมีคนเข้ามาเป็นกาวใจตลอดเวลา

บางคนลืมอุ่นกับข้าว โทร.มาบอกให้ช่วยอุ่นให้หน่อย ก็อุ่นให้ แล้วตักไปถ้วยหนึ่ง แล้วบอกว่าตักไปถ้วยหนึ่งนะ เป็นค่าอุ่น หรือบางทีกลับมาถึง เราถามว่ากินข้าวมั้ย กินเลย เพราะเหนื่อยมาก ก็มานั่งกินด้วย

สมมติว่าถ้า 10 คนที่จะมาอยู่ด้วยกัน แต่ไม่รู้จักกันเลย
ถ้าคนไม่รู้จักกันเลย รูปแบบคงเป็นอีกแบบ และที่นี่ก็ไม่ได้รู้จักกันทั้งหมด คือรู้จักแต่ไม่คุ้นเคย ไม่สนิทมาก จะเรียงตามความสนิท แล้วถึงจะเลือกว่าใครจะอยู่โซนไหน แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักกันเลย มี มีคนมาถามเหมือนกัน เพราะตั้งแต่เริ่มคิดก็มีคนถามตลอดว่าอยากอยู่อย่างนี้ แต่ไม่มีกลุ่ม หาเพื่อนไม่ได้ เขาก็ถามว่ามีใครที่อยากอยู่อย่างนี้แล้วไม่มีกลุ่มมั้ย เราบอกว่ามีเหมือนกัน

เราจึงคิดว่าทำเหมือน Match Maker ดีมั้ย เหมือนหาคู่ มาเขียนชื่อเอาไว้ ทำงานที่ไหน ทำเลตรงไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สมมติหาได้สัก 5 คนแล้วน่าจะอยู่ด้วยกันได้ ลองนัดมาคุยกันมั้ย เราคิดว่ามันน่าจะเกิด เพราะตอนนี้ก็มีคนมาทิ้งชื่อไว้ ถ้าเจอกลุ่มเมื่อไหร่โทร.เรียกด้วยนะคะ

อยู่ๆ มามีคนเริ่มแหกกฏหรือยัง
ยังไม่เห็น คงแหกลำบากเพราะว่ามันเห็นกันอยู่ทุกวัน (หัวเราะ) เรามีกฎตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่รบกวนกัน แต่ก็มีนะ บางทีเราเทสต์ อย่างเราเปิดวิทยุตรงนี้ดังระดับหนึ่ง ได้ยินไปถึงตรงนั้น แต่เพื่อนแถวนี้บอกไม่เป็นไร เพราะฉันชอบ ถ้าแถวนั้นไม่ชอบก็คงมาบอกเรา แต่ยังไม่เคยเจอ เพราะทุกวันนี้เราทำอะไรก็ระวัง

มันเกร็งมั้ย รู้สึกต้องเกรงใจตลอดเวลามั้ย กลัวจะรบกวนคนอื่น
ไม่ ไม่ถึงขนาดนั้น มันเพื่อนกัน เหมือนอยู่ในชั้นเรียน ก็ได้ระดับหนึ่ง

มีกลัวว่าจะโกงกันหรือเปล่า
โครงการนี้ทำอย่างโปร่งใสมากนะ ใช้เงินไปเท่าไหร่เรามีรายละเอียดชัดเจน แฟ้ม 7 แฟ้ม สูงขนาดนี้ (ทำมือประกอบ) เพราะเหมือนกับว่าโครงการนี้เราไม่ได้ทำขาย CASE เป็นเหมือนผู้รับหน้าเสื่อริเริ่มเฉยๆ แต่โดยวิธีการทำงานต้องมาช่วยกันทำ

ที่คนชั้นกลางในเมืองมีวิถีชีวิตแบบตัวคนเดียวทั้งที่ก็อยู่คอนโดฯ อยู่หอ ก็มีคนอยู่เยอะแยะ จริงๆ มันเป็นความจำยอมกับรูปแบบชีวิตแบบนี้เองหรือเปล่า
ไม่รู้เหมือนกัน ไม่อยากสรุป แต่สังเกตว่าพอกลายเป็นคนกรุงเทพฯ เมื่อไหร่จะมีพฤติกรรมแบบนี้ตลอด อาจจะเพราะมีประสบการณ์ อ่านหนังสือพิมพ์ เจอกับตัวเอง จึงเกิดการไม่ไว้ใจ ไม่แน่ใจ กว่าจะพัฒนาจากเพื่อนบ้านเป็นเพื่อนจริงๆ มันอาจจะนาน เพราะต่างคนต่างมีระยะห่าง

แต่ TEN ไม่ได้มองเฉพาะเพื่อนบ้านที่อยู่ในนี้ เรายังมองว่าเราจะมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่แวดล้อมเราได้อย่างไรด้วย เพราะเราทำเรื่องชุมชน มาตรงนี้เราเห็นโซนตลาดเก่าซึ่งน่าสนใจ เราจึงทำพื้นที่แถวนี้ด้วย แล้วตั้งแต่ทำเราจะเปิดมาก เด็กจะมาดูรถตักดินก็ให้ดู ชาวบ้านแถวนี้เราก็พยายามพูดคุย อย่างบ้านตรงนี้เขาขายขนมกล้วย เขาทำขนมไทยอร่อย เราก็ซื้อ ก็คุยกัน มันก็มีเพื่อนรอบข้าง บ้านข้างๆ ก็มาคุยกัน

บ้านเนื้อที่ขนาดนี้ หน้าตาแบบนี้ ราคาเป็นยังไง
บ้านในสเกลนี้ถือว่าถูก เพราะผ่อนน้อยกว่า ราคาโดยรวมมันถูกกว่าอยู่แล้ว แล้วที่ถูกกว่าคือการอยู่ตรงนี้มันลดค่าโสหุ้ยเราในเชิงไหนบ้าง แม้กระทั่งการรวมกันจ่ายค่าส่วนกลาง สมมติอยู่เดี่ยวๆ มันอาจจะไม่มีทางได้ยามหรอก แต่เรารวมกันจ้างยาม 1 คน ค่าใช้จ่ายส่วนรวมเดือนหนึ่งก็พันกว่าบาท อะไรที่ทำได้ อย่างการทำความสะอาดสระว่ายน้ำก็ผลัดกันทำ ช่วยได้เยอะ บวกกับที่คิดมาตั้งแต่ต้น มันก็ประหยัดแอร์ ประหยัดอะไรไปได้เยอะ

บทเรียนจากการทำโครงการนี้
เหนื่อย (หัวเราะ) ไม่ใช่หรอก คือ...เขาเรียกว่าอะไร ปีหนึ่งเหมือน Intensive Course เหมือนหลักสูตรเร่งรัด หลักสูตรสถาปัตย์ หลักสูตรการบริหารงานโครงการ หลักสูตรบริหารงานบุคคล การจัดการ การเงิน เหนื่อยมาก เราถึงได้บอกว่ามันมีทางทำให้ได้ง่ายกว่านั้น ให้เหนื่อยน้อยกว่านั้น ถ้ารัฐสนับสนุนหรือมีโปรแกรมรองรับ

**************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล












กำลังโหลดความคิดเห็น