xs
xsm
sm
md
lg

"เลี้ยบ" ยอม ธปท."ขึ้นดอกเบี้ย"อ้าง ศก.ไม่ลาออก-ไม่ยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ยอมแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย หมอเลี้ยบอ้างไม่ก้าวก่ายการทำงาน ขอผลักดันเมกะโปรเจกต์ ชี้หุ้นตกเพราะกังวลปัญหาการเมือง พร้อมเอาปัญหาเศรษฐกิจเป็นตัวประกัน ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ด้าน ธปท.ชี้เงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ทำให้โครงสร้างการเงินบิดเบือน ประชุม กนง. 16 ก.ค.นี้ เล็ง 3 ปัจจัยเสี่ยง น้ำมัน เงินเฟ้อและการเมือง กรรมการ กนง.ย้ำขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งต่อเนื่องจนการลงทุนชะลอ

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 16 ก.ค.นี้ว่า ตนไม่อยากออกความคิดเห็นและไม่อยากเข้าไปก้าวก่ายการทำงาน ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินจะดีกว่า

"ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ พร้อมนโยบายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ให้กลับคืนมาโดยเร็ว" รมว.คลังกล่าวและว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ มีสาเหตุมาจากนักลงทุนชาวต่างชาติ มีความกังวลและอ่อนไหวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงมีทางเลือกในการลงทุน อาจทำให้เทขายหลักทรัพย์ภายในประเทศไทย เพื่อย้ายแหล่งลงทุน

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ธปท.ได้จัดประชุมประจำปีร่วมกับสมาคมธนาคารไทย โดยได้เชิญตัวแทนสมาชิกที่เป็นธนาคารพาณิชย์ไทย ส่วน ธปท.นำโดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. และผู้บริหารระดับสูงทั้งในสายนโยบายการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน และสายระบบชำระเงิน เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับระบบสถาบันการเงินและการเงิน มีการส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลสภาพคล่องและค่าเงิน ขณะที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนคัดค้านการขึ้นดอกเบี้ย

อ้างเศรษฐกิจไม่ "ยุบสภา-ลาออก"

นพ.สุรพงษ์กล่าวถึงกรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลในชุดปัจจุบันมีเสถียรภาพเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ว่า ในส่วนการทำงานของกระทรวงการคลังขณะนี้ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาจึงไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะไม่ลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา เนื่องจากหลายฝ่ายไม่ต้องการให้การทำงานต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง

"นายสมัครในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชนยังยืนยันต่อที่ประชุม ส.ส.นัดพิเศษว่า จะไม่ตัดสินใจประกาศยุบสภาหรือลาออก แม้ว่าจะมีกระแสกดดันทางการเมืองหลายเรื่อง แต่จะมีการปรับ ครม. โดยอ้างว่ามีตำแหน่งคณะรัฐมนตรีว่างลงถึง 2 ตำแหน่ง คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ซึ่งต้องหาผู้มีคุณสมบัติและความน่าเชื่อถือ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่และในส่วนอื่น คงต้องมีการปรับให้เหมาะสม" นพ.สุรพงษ์กล่าวและยอมรับว่า ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้อาจส่งผลให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจไทย แต่มองว่าสถานการณ์ที่เผชิญยังไม่รุนแรงเท่า 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความมั่นใจว่าจะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

นักวิชาการ ธปท.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง ศก.

ดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า โดยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้วยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง แต่สิ่งที่น่าจับตามองและถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของเอกชนคือ ปัจจัยเรื่อง ต้นทุนพลังงาน หรือ ราคาน้ำมันที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าหยุดอยู่ที่ระดับใด รวมถึงปัญหาวิกฤติอาหาร ซึ่งเมื่อเกิดเหตการณ์สองสิ่งนี้พร้อมกันก็จะส่งกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ภาคเอกชนมีความมั่นใจลดลง

"การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ จะต่างจากเมื่อสองปีก่อนจะมีการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ในปีนี้อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงและเป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเงินเฟ้อในต่างประเทศนั้นแก้ไขด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สำหรับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นปัจจัยเกิดจาก Cost Push และจากข้อมูลที่ได้จากภาคเอกชนจะพบว่า ได้มีการปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และเป็นการปรับราคาขายล่วงหน้า ขณะเดียวกันก็คาดการณ์กันว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยับเป็นตัวเลขสองหลัก จากปัจจุบัน 8.7%" ดร.ทิตนันทิ์กล่าวและว่า การกำหนดนโยบายทางการเงินนั้น จะต้องสร้างความสมดุลทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ซึ่งในปัจจุบันผลตอบแทนของผู้ฝากเงินที่ได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นติดลบ ซึ่งหากปล่อยไว้แล้วเกิดการติดลบมากๆ จะทำให้กลุ่มผู้มีเงินฝากนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น

ทั้งนี้ จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ นั้น การทำให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนต้องปรับโครงสร้งทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างให้พึ่งพาน้ำมันให้น้อยที่สุด ภาครัฐต้องเร่งสร้างเมกะโปรเจกต์ ในส่วนของภาคเอกชนต้องปรับตัว

"ภาคธุรกิจอสังหาฯ จะขยายตัวไปในทิศทางไหนส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำหรับผู้ซื้อบ้าน หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยอมรับว่าต้องได้รับผลกระทบ และยิ่งในภาวะที่เกิดปัจจัยเสี่ยงมากมาย แบงก์เองก็เข้มในการปล่อยกู้ซื้อบ้าน และอาจปรับลดวงเงินกู้ เพื่อป้องกันความเสียง รวมถึงขยายฐานหรือขยายเวลาการผ่อนชำระวงเงินกู้ให้ยาวขึ้นได้” ดร.ทิตนันทิ์กล่าว

หวั่นเงินเฟ้อพุ่งฉุดลงทุนวูบหนัก

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 5 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มชะลอตัวลงนั้นทิศทางจากนี้ไปยอมรับว่ามีความเป็นห่วง หากไม่สามารถหยุดปัญหาเงินเฟ้อได้เพราะเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะมีผลให้การลงทุนชะลอตัวมากกว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ปัญหาเงินเฟ้อปัจจุบันของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่เกินมาตรฐานเพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบแล้วและการจะปรับขึ้นหรือลง กนง.ที่จะประชุม 16 ก.ค.นี้ คงจะมีข้อสรุปที่จะมองประโยชน์สูงสุดของประชาชนภาพรวมไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ความเห็นต่างกันออกเป็น 2 ฝ่าย ส่วนจะถูกหรือผิดนั้นไม่มีใครสามารถตอบได้เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วดอกเบี้ยเป็นมาตรการการเงินสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อแต่ก็ไม่ใช่กฏตายตัว อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยเป็นนโยบายด้านการเงินการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือการใช้นโยบายด้านการคลังที่ควบคู่ไปด้วย

“การตัดสินใจบางครั้งมีสมมติฐานที่ต่างกันไปเพียงแต่ว่า การตัดสิน ณ เวลานั้นมีอะไรบ้างเป็นสมมติฐานและเวลาที่คนพูดก็จะพูดเข้าข้างตนเองซึ่ง กนง.เวลาจะมองต้องดูภาพรวมประโยชน์สูงสุดต้องเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ผมเองอยู่ใน กนง.คงพูดไม่ได้ว่าควรจะลดหรือขึ้นแต่บอกได้ตามทฤษฎีที่ดอกเบี้ยต้องสะท้อนตามอุปสงค์และอุปทาน หากคนไม่ฝากเงิน เงินจะช็อตไปการขยายลงทุนก็จะหายไป” นายจักรมณฑ์กล่าว

สำหรับราคาพลังงานที่สูงขึ้นนั้นกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อการดูแลราคาพลังงานที่ผ่านมาก็ถือเป็นภาระที่รัฐบาลได้ดำเนินการระดับหนึ่งแล้ว กรณีก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีก็เช่นกันจะต้องพิจารณาให้รอบคอบโดยการอุ้มมากเกินไปจนต้องนำเข้ากลายเป็นภาระควรที่จะต้องมีการเฉลี่ยส่วนราคานำเข้ามาปรับขึ้นในภาพรวมเพื่อลดภาระและไม่กระทบต่อภาระประชาชนจนเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น