xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” ฝันสลาย ก.คลัง ไม่อนุมัติเพิ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
“เอสเอ็มอีแบงก์” ฝันสลาย ก.คลัง ไม่อนุมัติเพิ่มทุน ระบุเหตุผลยังดำเนินการต่อไปได้ และต้องการให้เคลียร์ปัญหาให้โปร่งใสเสียก่อน “ประดิษฐ์” ขอเวลา 1 เดือน วางนโยบายดำเนินงานขั้นสมบูรณ์ ประกาศไม่ยุบแน่นอน ชี้มีความสำคัญต่อ ศก.ไทย ด้าน “จักรมณฑ์” เผยสิ้นเดือนนี้ รู้ผลสอบค่าโง่ FRCD ขณะที่ “พงษ์ศักดิ์” เสนอแผนล้างหนี้เน่าให้ ก.คลัง พิจารณา

***ก.คลัง ไม่อนุมัติเพิ่มทุน

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ว่า กระทรวงการคลังได้หารือกับผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ รวมถึง รับทราบปัญหาต่างๆ มีข้อสรุปเห็นพ้องกันว่า จะยังไม่เพิ่มทุนให้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

***ประกาศไม่ยุบเอสเอ็มอีแบงก์

ส่วนแผนการพัฒนาเอสเอ็มอีแบงก์ที่คณะกรรมการเสนอมานั้น จะขอนำกลับไปพิจารณาอีกครั้งภายในระยะ 1 เดือน จากนั้นจะกำหนดข้อสรุปเพื่อใช้เป็นแนวนโยบายการทำงานของเอสเอ็มอีแบงก์ต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า องค์กรแห่งนี้จะไม่มีการปิด รวมถึงไม่มีการปลดพนักงาน หรือยุบรวมกับสถาบันการเงินใดๆ อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า เอสเอ็มอีแบงก์ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ต้องการแนวทางแก้ไข และนโยบายที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ขอให้ฝ่ายบริหาร และพนักงานสบายใจได้

ด้านนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทบการคลัง กล่าวเสริมว่า อีกเหตุผลที่ยังไม่พิจารณาเพิ่มทุนให้นั้น เพราะต้องการให้เอสเอ็มอีแบงก์สางปัญหาต่างๆ ที่ยังค้างคาให้แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งเชื่อว่า แนวทางทำงานที่จะพยายามสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินแห่งนี้ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของธนาคารในอนาคต

***ดีเดย์สิ้นเดือน รู้ผลค่าโง่ FRCD

ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการชุดก่อน ทำสัญญาออกตราสาร FRCD จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยนำอัตราดอกเบี้ยไปทำสวอปพิเศษกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ประเมินภาพที่แท้จริง และทำเกินอำนาจ ซึ่งเกิดปัญหาทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ อาจต้องจ่ายค่าปรับกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ ได้ทำหนังสือขอคำปรึกษาไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ช่วยพิจารณาว่า นิติกรรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์หรือไม่ เนื่องจากในข้อเท็จจริงในการประชุมคณะกรรมการ สัญญาฉบับแรกถูกต้อง แต่สัญญาฉบับที่ 2 ที่ทำขึ้น ไม่พบว่า มีการเสนอเงื่อนไขดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คำพิจารณาข้อหารือดังกล่าว จะรู้ผลภายในเดือนนี้ (พ.ค.) ถ้าปรากฏ ว่า นิติกรรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์จริง เอสเอ็มอีแบงก์ก็พร้อมจะจ่ายเงินค่าปรับ โดยตามสัญญาจะทยอยจ่ายงวดละประมาณ 890 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3.5 ปี

ส่วนการตรวจสอบทุจริตว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเอสเอ็มอีแบงก์เกี่ยวข้องหรือไม่ ขณะนี้ได้ตั้งให้นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการบริหารเอสเอ็มอีแบงก์ เป็นประธานสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

นายจักรมณฑ์ เผยต่อว่า สำหรับการตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ผิดปกติอยู่ประมาณ 80 เรื่อง ขณะนี้ สอบไปแล้ว 53 เรื่อง ซึ่งผลสรุปทั้งหมดจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้

***เสนอแนวทางสางหนี้เน่า

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า แผนที่เสนอต่อกระทรวงการคลัง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งปัจจุบันประมาณ 46% มูลค่าราว 19,000 ล้านบาท จะแบ่งหนี้เป็น 3 กอง คือ หนี้เสียถาวรจะขายทอดตลาด มูลค่า 3,600 ล้านบาท อีกกองจะจ้างมืออาชีพมาฟื้นฟู มูลค่า 9,000 ล้านบาท และกองสุดท้าย เอสเอ็มอีแบงก์นำมาบริหารเอง มูลค่า 6,500 ล้านบาท ตั้งเป้าว่า สิ้นปีนี้ NPL จะลดเหลือประมาณ 40% มูลค่า 17,000 ล้านบาท

ส่วนเป้าในการปล่อยสินเชื่อนั้น วางไว้ที่ 25,000 ล้านบาท โดยยอดปล่อยสินเชื่อในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้า ที่วางไว้ 3,000 ล้านบาท ประมาณ 10%

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ มีค่าใช้จ่ายด้วยบุคลากรกว่า 60% ขณะนี้มีพนักงานสนใจเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนดแล้วจำนวนประมาณ 200 คน และจะพยายามลดให้ถึงเป้าที่ประมาณ 300 คน

นายพงษ์ศักดิ์ เผยด้วยว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาต้นทุนทุกด้านเพิ่ม ทางคณะกรรมการได้มอบนโยบายให้พยายามดูแลลูกค้าให้ประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปให้ได้ เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เมื่อมีปัจจัยลบจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก และรุนแรงกว่าธุรกิจรายใหญ่ ส่วนมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อยู่ระหว่างหารือของผู้บริหารและคณะกรรมการ
กำลังโหลดความคิดเห็น