xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์รัฐกินแห้วคลังไม่เพิ่มทุน เตรียมสรุปค่าโง่ SME 2.5 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์เฉพาะกิจกระทรวงการคลังกินแห้ว "ประดิษฐ์" เผยไม่อนุมัติเพิ่มทุนทั้ง บสย. ธอส. เอสเอ็มอีแบงก์ อ้างสภาพคล่องเพียงพอ ชี้เอสเอ็มอีแบงก์ต้องจัดทำแผนพลิกฟื้นองค์กรแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะความโปร่งใสต้องสะสางภายใน 1 เดือน ยันไม่ปิดแบงก์ “จักรมณฑ์” เผยสิ้นเดือนนี้ รู้ผลสอบค่าโง่ FRCD 2.5 หมื่นล้าน

วานนี้ (21 พ.ค.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง มีกำหนดเดินทางร่วมประชุมเพื่อติดตามผลการปฏิบิติงานของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ SME BANK ตามลำดับ นายประดิษฐ์กล่าวภายหลังหารือกับผู้บริหาร บสย. ว่า จะยังไม่มีการเพิ่มทุนให้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน บสย.ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยยืนยันว่า ผู้บริหาร บสย.ก็มีความเห็นสอดคล้องกัน ซึ่งได้ให้นโยบายไปขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น และเพิ่มช่องทางการประสานงานจากเดิมที่จะมีแค่กับธนาคารกสิกรไทยและเอสเอ็มอีแบงก์ ทั้งนี้ ยังต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจน ตั้งเป้าหมายในแต่ละเดือน และหลังจากนี้จะปรับแผนธุรกิจ 5 ปีใหม่

นายประดิษฐ์ยังกล่าวถึงการเพิ่มทุน ธอส.ว่า ยังมีสภาพคล่องรองรับการปล่อยสินเชื่อ แต่ได้รับข้อเสนอการขอลดภาษีสำหรับบัญชีออมทรัพย์ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกรมสรรพากรต่อไป และเพื่อให้ ธอส.คุมเข้มในการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จึงให้ปรับเปลี่ยนระบบการบันทึกบัญชีลูกหนี้เอ็นพีแอล จากรูปแบบการบันทึกบัญชีเป็นงวด เป็นการนับการขาดชำระบัญชีเป็นรายวัน ตามมาตรฐานธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

ด้านแผนออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อบ้านหลังแรกตามนโยบายรัฐบาลนั้น นายประดิษฐ์อ้างว่าจะสรุปชัดเจนได้ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติและมีกำหนดสรุปภายในสิ้นเดือนนี้

เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีแบงก์ รมช.คลังยืนยันว่าไม่อนุมัติเพิ่มทุนให้เช่นกัน

"กระทรวงการคลังได้หารือกับผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ รวมถึงรับทราบปัญหาต่างๆ มีข้อสรุปเห็นพ้องกันว่า จะยังไม่เพิ่มทุนให้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้" นายประดิษฐ์กล่าวและยืนยันว่า องค์กรแห่งนี้จะไม่มีการปิด รวมถึงไม่มีการปลดพนักงาน หรือยุบรวมกับสถาบันการเงินใดๆ อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า เอสเอ็มอีแบงก์ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ต้องการแนวทางแก้ไข และนโยบายที่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น ขอให้ฝ่ายบริหาร และพนักงานสบายใจได้

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทบการคลัง กล่าวเสริมว่า อีกเหตุผลที่ยังไม่พิจารณาเพิ่มทุนให้นั้น เพราะต้องการให้เอสเอ็มอีแบงก์สางปัญหาต่างๆ ที่ยังค้างคาให้แล้วเสร็จเสียก่อน ซึ่งเชื่อว่า แนวทางทำงานที่จะพยายามสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของสถาบันการเงินแห่งนี้ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของธนาคารในอนาคต
         
***ดีเดย์สิ้นเดือน รู้ผลค่าโง่ FRCD          

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการชุดก่อน ทำสัญญาออกตราสาร FRCD จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยนำอัตราดอกเบี้ยไปทำสวอปพิเศษกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ประเมินภาพที่แท้จริง และทำเกินอำนาจ ซึ่งเกิดปัญหาทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ อาจต้องจ่ายค่าปรับกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ ได้ทำหนังสือขอคำปรึกษาไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ช่วยพิจารณาว่า นิติกรรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์หรือไม่ เนื่องจากในข้อเท็จจริงในการประชุมคณะกรรมการ สัญญาฉบับแรกถูกต้อง แต่สัญญาฉบับที่ 2 ที่ทำขึ้น ไม่พบว่า มีการเสนอเงื่อนไขดังกล่าว

"คำพิจารณาข้อหารือดังกล่าว จะรู้ผลภายในเดือนนี้ (พ.ค.) ถ้าปรากฏ ว่า นิติกรรมดังกล่าวมีความสมบูรณ์จริง เอสเอ็มอีแบงก์ก็พร้อมจะจ่ายเงินค่าปรับ โดยตามสัญญาจะทยอยจ่ายงวดละประมาณ 890 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3.5 ปี"

***มุ่งเสนอแนวทางสางหนี้เน่า          

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ กรรมผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า แผนที่เสนอต่อกระทรวงการคลัง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งปัจจุบันประมาณ 46% มูลค่าราว 17,000 ล้านบาท จะแบ่งหนี้เป็น 3 กอง คือ หนี้เสียถาวรจะขายทอดตลาด มูลค่า 3,600 ล้านบาท อีกกองจะจ้างมืออาชีพมาฟื้นฟู มูลค่า 9,000 ล้านบาท และกองสุดท้าย เอสเอ็มอีแบงก์นำมาบริหารเอง มูลค่า 6,500 ล้านบาท ตั้งเป้าว่า สิ้นปีนี้ NPL จะลดเหลือประมาณ 40% ส่วนเป้าในการปล่อยสินเชื่อนั้น วางไว้ที่ 25,000 ล้านบาท โดยยอดปล่อยสินเชื่อในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้า ที่วางไว้ 3,000 ล้านบาท ประมาณ 10%

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ มีค่าใช้จ่ายด้วยบุคลากรกว่า 60% ขณะนี้มีพนักงานสนใจเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนดแล้วจำนวนประมาณ 200 คน และจะพยายามลดให้ถึงเป้าที่ประมาณ 300 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น