xs
xsm
sm
md
lg

ช็อก!เงินเฟ้อ เม.ย.พุ่ง 6.2% น้ำมันตัวฉุดสูงสุด 23 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - วิกฤตเงินเฟ้อมาเยือน เผย เม.ย. 6.2% พุ่งสูงสุดในรอบ 23 เดือน “พาณิชย์” บอกน้ำมันต้นเหตุหลัก ทำรายจ่ายคนไทยเพิ่ม แถมกระทบชิ่งทำต้นทุนสินค้ารายการอื่นๆ เพิ่มตาม “ศิริพล”เผยแนวโน้มเดือนหน้าขึ้นหรือลด ก็ว่าไปตามจริง เหตุมีปัจจัยกดดันเพียบ ทั้งน้ำมัน น้ำตาล และค่าแรงจ่อปรับ พร้อมเปลี่ยนเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่เป็น 5-5.5%

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนเม.ย.2551 เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 1.8% และเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2550 สูงขึ้น 6.2% สูงสุดในรอบ 23 เดือนนับจากเดือนพ.ค.2549 แต่ไม่สูงสุดในประวัติศาสตร์ เพราะเคยสูงถึง 8.1% ในปี 2541 และเกิน 20% ในช่วงเกินวิกฤตน้ำมัน ส่วนเงินเฟ้อเมื่อเทียบเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงขึ้น 5.3%

“สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนเม.ย.นี้ สูงขึ้นมาก เพราะน้ำมันที่ราคาเพิ่มขึ้นมาก โดยก่อนหน้านี้น้ำมันคิดเป็น 5.3% ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่มาเดือนนี้ขึ้นเป็น 9.91% และสาเหตุย่อยก็มาจากน้ำมันที่ทำให้สินค้าตัวอื่นๆ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร ที่อิงกับน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต และการขนส่ง”นายศิริพลกล่าว

ทั้งนี้ เงินเฟ้อในเดือนเม.ย.ที่เทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้น 1.8% นั้น เป็นเพราะดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 3.4% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว สูงขึ้นตามความต้องการของการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ ไก่สด ไข่ ผักและผลไม้ราคาสูงขึ้น เช่น กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักชี มะเขือเทศ มะนาว ขึ้นฉ่าย และต้นหอม และอาหารสำเร็จรูปบางรายการที่เพิ่มสูงขึ้นตามอาหารสด เช่น ก๋วยเตี๋ยว กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และโจ๊ก ส่วนเนื้อสุกรมีราคาลดลงเล็กน้อย

ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.8% จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามภาวะราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับสูง โดยมีการปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศหลายครั้งทั้งเบนซินและดีเซล ส่งผลให้ดัชนีหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 4.5% และยังมีการสูงขึ้นของค่าโดยสารในท้องถิ่น ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง

นายศิริพลกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. กระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะเก็บข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และยึดหลักวิชาการ แม้ว่าในเดือนหน้าจะมีแรงกดดันหลายๆ ตัว ทั้งราคาน้ำมัน การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย และมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่ได้ หากสูงก็ต้องสูง ต่ำก็ต่ำ จะไม่มีการบิดเบือน

“การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก โดยมีน้ำหนักในเงินเฟ้อเพียง 0.11% แต่จะกระทบโดยอ้อมไปยังสินค้ารายการอื่นๆ เช่น น้ำอัดลม นมข้นหวาน ขนมหวาน และลูกอม เป็นต้น ก็ต้องไปดูว่าผลกระทบจะมีเท่าไร”

ส่วนเงินเฟ้อทั้งปี กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับประมาณการเป้าหมายใหม่ จากเดิม 3-3.5% เพิ่มเป็น 5-5.5% เนื่องจากสมมุตฐานต่างๆ ได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันจากเดิมที่ตั้งไว้เฉลี่ย 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาเกินกว่า 100% สหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ทั้งนี้ สมมุตฐานเงินเฟ้อดังกล่าว คิดจาก น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอัตราดอกเบี้ย 3.25% และหากสมมุตฐานต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.6% เทียบกับเดือนเม.ย.2550 สูงขึ้น 2.1% และเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงขึ้น 1.6%

** สินค้าเกษตรพุ่งดันเงินเฟ้อต่อ

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวณิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 51 ที่ขยายตัว 6.2 % ถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงแต่ก็เหมาะสมเพราะต้องยอมรับว่าราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงมากโดยเฉพาะข้าว และล่าสุดยังมีราคาน้ำตาลทรายอีก ดังนั้นผลจากปัญหาดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่ปรับขึ้นรวมไปถึงการปรับค่าจ้างแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูง ดังนั้นอาจเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ลดกำไร ลดขนาด หรือคุณภาพสินค้าต่อหน่วยลง เพื่อลดต้นทุนการผลิต

“หากผู้ประกอบการเลือกแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาสินค้าจะเป็นวิธีการที่ทำได้ทันที แต่บางธุรกิจอาจขึ้นราคาได้ลำบากเพราะตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรีการขึ้นราคาไปอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดได้เช่นกัน แต่สำคัญหากขึ้นราคาจะเป็นแรงผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้อีก”.
กำลังโหลดความคิดเห็น