xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง นักบริหารหนี้:ระวังเงินเฟ้อ จะกดดันให้เศรษฐกิจชะงักงัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะเงินเฟ้อที่แม้จะลดลงเล็กน้อยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นได้อีก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกได้มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก หลังจากที่ลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐเป็นเวลาช่วงสั้นๆและขณะนี้ราคาอาหาร โดยเฉพาะข้าวที่แพงขึ้น และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆก็ทยอยขึ้นตามเมื่อรวมกับมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของรัฐบาล จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3-3.5%มาก และยุคข้าวยากหมากแพงจะมาเยือนประชาชนระดับฐานรากเร็วขึ้น อาจส่งผลถึงเศรษฐกิจชะงักงันได้

ราคาน้ำมันในตลาดนิวยอร์คได้ทะยานสูงขึ้นถึง 108-109 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับ 110-111 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าอยู่ และขณะนี้มีข่าวว่าธนาคารของสหรัฐอเมริกา อาจจะลดดอกเบี้ยลงอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการว่างงงานสูงขึ้น ข่าวการลดดอกเบี้ยจะส่งแรงกระทบต่อค่าดอลลาร์ให้อ่อนลงไปอีก และจะผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกได้ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เงินเฟ้อในสหรัฐฯได้สูงขึ้นถึง 4.0% เศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีโอกาสถดถอยและตกต่ำถึงขั้นชะงักงันได้

หากเศรษฐกิจสหรัฐฯตกต่ำหรือชะงักงันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยนอกจากค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตามค่าดอลลาร์ที่อ่อนลงแล้ว ตลาดส่งออกสินค้าไทยก็จะได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะกดดันให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นไปด้วย

กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยว่า ภาวะเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมา สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 5.3% ราคาสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นมากประกอบด้วย เนื้อสุกรเพิ่มขึ้น 41.4% ไก่สด 19.5% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 13.9% ผักและผลไม้ 10.0% และน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น 25.3%

อนึ่ง เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่มขึ้น 5.4% แล้วเงินเฟ้อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับที่เพิ่ม 4.3% เมื่อเดือนมกราคม 2551 จะเห็นว่าทิศทางหรือแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นไปอีกยังมีอีกมาก และยิ่งเห็นราคาข้าวสูงขึ้นหมื่นกว่าบาทต่อเกวียน และมีบางคนได้ประมาณไว้สูงถึงสามหมื่นบาทต่อเกวียน และเมื่อรวมพลังขับเคลื่อนกับเงินที่รัฐอัดฉีดเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจฐานรากแล้ว มีโอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อสูงขึ้นไปมากอีกได้ ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลกได้ประมาณการไว้ว่าเงินเฟ้อของไทยตลอดปี 2551 นี้จะอยู่ระหว่าง 5-5.5%

เป็นที่น่าสังเกตว่าเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ 3-3.5% นั้นต่ำกว่าที่ธนาคารโลกประมาณการไว้ถึง 2% อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอาจมีการประกาศควบคุมราคาสินค้าเพิ่มเติมจากที่ประกาศไปแล้ว 60 รายการ ซึ่งจะเป็นการบิดเบือนราคาตลาด หากใช้เป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้

พิจารณาในแง่ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หากเงินเฟ้อสูงขึ้นไม่มาก หรือเงินเฟ้ออ่อน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ แต่ถ้าปล่อยให้เงินเฟ้อหรือราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วจะเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต และหากปล่อยถึงขั้นผู้บริโภคและนักลงทุนขาดความมั่นใจ จะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงไป

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างนิ่งที่ต้องประสานนโยบายทั้งการเงินและการคลังให้สมดุล กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและโตอย่างยั่งยืน อย่าปล่อยเงินเข้าระบบโดยขาดวินัยทางการคลังเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจการเมืองในระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะหากเศรษฐกิจชะงักงัน การเมืองก็จะชะงักงันไปด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น