xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อเดือน ก.พ.พุ่ง 5.4% ทำสถิติสูงสุดรอบ 20 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พาณิชย์ ชี้ ผลกระทบราคาอาหาร ดันเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ขยายตัวเพิ่ม 5.4% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 20 เดือน ระบุ ราคาหมูแพง เนื้อไก่ และไข่ไก่ เป็นต้นเหตุสำคัญ ซึ่งเกิดจากภาวะต้นทุนผลัก ราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า

วันนี้ (3 มี.ค.) นางไพเราะ สุดสว่าง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (Core CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 5.4 โดยเฉลี่ยเงินเฟ้อ 2 เดือนแรกปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 4.8 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ราคาสูงขึ้นตามราคาหน้าฟาร์มและอาหารสัตว์ รวมถึงราคาไข่ไก่และไก่สด ซึ่งมาจากปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น รวมถึงค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น รวมทั้งผักและผลไม้ที่ราคาสูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คงยังไม่สามารถปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี แม้ว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อโดยรวมมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ที่ปรับตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 20 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์จะขอรอดูตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนก่อน จึงจะคาดการณ์ได้ว่าจะต้องมีการปรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังยืนยันอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3-3.5

“แม้ในเดือน ม.ค.และ ก.พ.จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เราขอดูตัวเลขสัก 6 เดือนก่อน เพื่อให้มั่นใจในสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการไป ขอรอดูอย่างน้อย 6 เดือนก่อนปรับเป้า ตอนนี้ยังยืนยันตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 3.5%”
นางไพเราะ กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันยังมีความผันผวน แต่จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ซึ่งอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าคงไม่ทำให้ราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยหลักในการผลิตสินค้าสูงเกินไป และน่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่ผันผวนมากนัก และจากการที่ผู้ประกอบการหลายกลุ่มสินค้ารับปากกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะยอมตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค อย่างน้อย 3-6 เดือน คงไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ขยับตัวสูงขึ้น

“ถือเป็นข่าวดีที่ผู้ประกอบการสินค้านมผงที่ได้ยื่นเรื่องมาที่กระทรวงพาณิชย์ โดยยอมลดราคานมผงร้อยละ 5-13 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป ขณะเดียวกันในส่วนนมเปรี้ยวและนมพาสเจอร์ไรซ์ยังคงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนสูง ได้เสนอขอปรับราคามายังกรมการค้าภายในและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และภายในไม่เกิน 6 มีนาคมนี้ กลุ่มสินค้าเช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน ซึ่งไม่ได้ขอปรับราคามาแล้ว 5 ปี จะเสนอเรื่องมายังกรมการค้าภายในว่าจะสามารถตรึงราคาสินค้าหรือลดราคาสินค้าต่อไปได้หรือไม่”

ขณะเดียวกัน สำหรับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนได้ส่งข้อมูลต่างๆ มายังกรมการค้าภายในให้ทราบ และยินดีที่จะไม่ขึ้นราคาค่าบริการ แต่จะเน้นคุณภาพการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่า จากมาตรการขอความร่วมมือและสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายกลุ่มยอมรับที่จะตรึงราคาสินค้าออกไปอีกระยะ น่าจะทำให้เงินเฟ้อเดือนมีนาคมไม่สูงขึ้นมาก ขณะที่กลุ่มสินค้าสุกรและน้ำมันพืชที่ใช้เป็นพลังงานทดแทน กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณาหาทางออกช่วยผู้บริโภคต่อไป

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เทียบกับเดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 0.3 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 1.5 ทำให้ค่าเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกเทียบกับปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 1.4
กำลังโหลดความคิดเห็น