xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เผย ราคาข้าว-น้ำมันแพง ดันเงินเฟ้อเดือน เม.ย.พุ่งกระฉูด 6.2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย.พุ่งขึ้นถึง 6.2% ชี้ราคาข้าว-น้ำมันแพง เป็นตัวแปรที่สำคัญ ขณะที่ตัวเลข ธปท.บ่งชี้ นักลงทุนเครียด "เงินเฟ้อ-น้ำมัน" พุ่งไม่หยุด ทำดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า หล่นตุ้บต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ทั้งปัญหาค่าครองชีพ-ต้นทุนวัตถุดิบ ขยับพรวดพราด ภาคธุรกิจยิ่งหวั่นไหว กดดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมีนาคมกระเตื้องเล็กน้อยที่ 47.3 ส่วนบรรยากาศงานธงฟ้า เอ้าท์เล็ทเซลล์ ยังคึกคัก ปชช.แห่ตุนซื้อสินค้าราคาถูก

วันนี้(1 พ.ค.) นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 123.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาในอัตรา 1.8% แต่หากเทียบกับเดือน เม.ย.ปีก่อนเพิ่มขึ้นในอัตรา 6.2% และเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเพิ่มขึ้นเป็นตัวกดดัน โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผัก ผลไม้และอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งราคาน้ำมันที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงาน ในเดือน เม.ย.เท่ากับ 107.6 เพิ่มขึ้น 0.6 %เทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับเดือน เม.ย.ปีก่อนเพิ่มขึ้น 2.1% และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือน เพิ่มขึ้น 1.6%เทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน

ส่วนบรรยากาศงานธงฟ้าเอ้าท์เล็ทเซลล์ ที่บริเวณกรมการส่งเสริมการส่งออก ประชาชนได้ไปต่อคิวเข้าแถว เพื่อรอช่วงนาทีทองในช่วง 11.00 -12.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันอาทิตย์นี้ โดยสินค้าที่นำมาลดราคา เช่น น้ำตาลทราย 17 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าราคาที่ประกาศขึ้นใหม่ถึง 6 บาทต่อกิโลกรัม น้ำมันพืชขายเพียง 42 บาทต่อขวด ข้าวหอมมะลิยี่ห้อตังฮั้วขายถูกกว่าปกติ 5 บาท หรือราคาประมาณ 170-180 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม เนื้อสุกรธงฟ้า 95 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีทั้งผู้ซื้อไปบริโภคและนำไปจำหน่ายต่อเพื่อหวังทำกำไร โดยในส่วนน้ำตาลทรายได้จำกัดการจำหน่ายให้ซื้อคนละ 2 ถุงเท่านั้น

นายยรรยง กล่าวว่าการจัดนาทีทองก็เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพของประชาชน โดยในส่วนน้ำตาลทรายที่ขึ้นราคาขายปลีก 5 บาทต่อกิโลกรัม ในเช้าวันนี้ คาดว่ากลุ่มโรงงานน้ำอัดลม นมข้นหวานแ ละน้ำผลไม้จะไม่นำไปเป็นปัจจัยการปรับขึ้นราคาเพราะกระทบต้นทุนเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้น ส่วนกรณีราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ลดลงช่วงนี้ ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นผลกระทบจากกรณีรัฐบาลนำข้าวในสต็อก 2.1 ล้านตัน มาบรรจุถุงขายแต่อย่างใด เพราะข้าวถุงยังไม่ออกมา แต่ที่ลดลงก็คงเป็นเพราะว่าปริมาณข้าวนาปรังเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น

**ธปท.ชี้ผลกระทบเงินเฟ้อ ดัชนีความเชื่อมั่นวูบ

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ของปี 51 (ม.ค.-มี.ค.) โดยระบุว่า มีอัตราการขยายตัว 6% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค การลงทุนในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอุปทานทั้งผลผลิตและราคาพืชผลการเกษตรขยายตัวสูงขึ้นเช่นกันทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมีอัตราการขยายตัวสูง แต่มีความเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองจะเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 49.6 ซึ่งต่ำกว่า 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สะท้อนให้เห็นว่ามีความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรม นอกจากนี้พบว่าคำสั่งซื้อทั้งภายในและภายนอกประเทศปรับตัวลดลง

“ภาคธุรกิจมีความกังวลเรื่องราคาน้ำมันแพงจะทำให้ต้นทุนสินค้า สูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบคือ สินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ แต่สินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตยังขยายตัวต่อเนื่องและการปรับลดภาษีของรัฐบาลช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเชื่อว่าอุปสงค์ในประเทศเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกเริ่มชะลอตัวลง โดยไตรมาส 1 ขาดดุลการค้า 109 ล้านบาท ส่วนดุลบริการเกินดุล 3,177 ล้านเหรียญฯดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,068 ล้านเหรียญฯ เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5%”

สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 9 บาท นั้น เชื่อว่าไม่เป็นภาระต้นทุนต่อนายจ้าง เพราะค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นมีอัตราใกล้เคียงกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้การบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.5% หากเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.6% แสดงให้เห็นว่าการว่างงานของผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนลดลง ทั้งนี้ในส่วนของการจ้างงานในเดือน มี.ค. เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2% โดยการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.5% ภาคบริการเพิ่มขึ้น 6% เช่น การเงินการธนาคาร และลูกจ้างครัวเรือนส่วนบุคคล

นางอมรา กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในเดือน มี.ค. ประมาณ 125,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% โดยรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 8.7% ตามการขยายตัวของทุกฐานภาษี ซึ่งภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภคเพิ่มขึ้น 5.6% ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะหดตัว 25.7% เพราะการจัดเก็บภาษีธุรกรรมของสถาบันการเงินลดลงต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น