ธปท.เผยตัวเลขศก.เดือน ก.พ.51 คาดยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อพุ่ง 1.1% และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ขณะที่การบริโภคชะลอตัวลง ดัชนีความเชื่อมั่นทรุดลงเกือบ 1% มีการขาดดุลการค้าถึง 620 ล้านดอลล์ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
วันนี้(31 มี.ค.) นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดแถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.51 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องสอดคล้องอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่มีอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยง
นางอมรา กล่าวว่า เศรษฐกิจยังมีทิศทางการขยายตัวดีต่อเนื่องในเดือน ก.พ.51 โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวขยายตัวสูงต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อประกอบกับราคาพืชผลที่ขยายตัวดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลสำคัญขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
สำหรับด้านอุปสงค์ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและการนำเข้าจะชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่โดยรวมยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี รวมทั้งารลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเร่งตัวต่อเนื่อง
นางอมรา กล่าวว่า แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่ภาคการส่งออกของไทยยังปรับตัวได้ดี เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการกระจายตลาดใหม่ ๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนประกอบการที่เร่งตัวขึ้น
ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในปัจจุบันและอนาคตยังดีอยู่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ประกอบการยังเชื่อว่าต้นทุนประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวลดลง เพราะผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนได้ ประกอบกับมองว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวช่วงครึ่งหลังของปี และการได้ปรับราคาสินค้าขึ้น
ส่วนปัญหาการเมืองนั้น ธปท.มีมุมมองว่าจากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความมั่นใจในประเทศไม่ดี แต่การส่งออกดีเพราะเศรษฐกิจโลกดี ทำให้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตได้ แต่ขณะนี้เศรษฐกิจภายนอกไม่ดี ดังนั้น หากมีอะไรมากระทบกับความเชื่อมั่นในประเทศก็อาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเมืองยังไมได้เป็นปัจจัยที่สร้างความมกังวลให้กับผู้ประกอบการ ยกเว้นเรื่องต้นทุนการผลิตอย่างเดียว เพราะหลายคนเห็นตรงกันว่าราคาน้ำมัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นอย่างไร ตราบใดอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวได้จากการกระตุ้นของภาครัฐ ก็ยังน่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวต่อไปได้
**นำเข้าน้ำมัน ดันขาดดุลพุ่งสูงสุดรอบ 10 ปี
สำหรับตัวเลขดุลการค้าเดือน ก.พ.พบว่า ไทยขาดดุลสูงถึง 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากการนำเข้าที่ยังขยายตัวในเกณฑ์สูงในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาเป็นสำคัญ ทำให้โดยรวมการนำเข้ามีมูลค่า 13,514 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 32.5%
ขณะที่ตัวเลขภาคการส่งออกมีมูลค่า 12,894 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 33.6% ชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าประมงที่ลดลงตามการส่งออกกุ้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในการผลิตสูงชะลอลงโดยเฉพาะเครื่องหนัง อัญมณี และเครื่องประดับ ที่ได้มีการเร่งส่งออกทองคำในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งได้มีการเร่งการส่งออกทองคำเช่นช่วงก่อนหน้านี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอ
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,514 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 32.5% ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 40.1% แต่ภาพรวมการนำเข้าสินค้ายังเติบโตในทุกๆ หมวด ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุลสูงตามดุลการท่องเที่ยวที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลการชำระเงินเกินดุล 6,571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
**ราคาสินค้าแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง 1.1%
เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.4% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 4.3% แม้ว่าราคาในหมวดพลังงานจะค่อนข้างทรงตัว แต่ราคาอาหารสดปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ รวมถึงราคาน้ำมันพืชและน้ำมันสัตว์เช่นกัน ซึ่งทำให้มีการส่งผ่านไปยังราคาอาหารบริโภคในและนอกบ้าน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมอาหาร และราคาน้ำมัน ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 1.5% จาก 1.2%
**การบริโภคชะลอตัวลง 2.1%
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือน ก.พ.ขยายตัว 6.0% ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 8.1% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเร่งตัวมากในเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูงตามการจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานทางเลือกหรือ E20
ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับ 5.6% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ 4.7% โดยเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนราคาคงที่ที่ยังคงขยายตัวดี
**ดัชนีความเชื่อมั่นหดตัว 0.8 รับผลกระทบต้นทุนพุ่ง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.พ.ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.8 จากระดับ 45.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 51.8 ในเดือนที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง